ใครว่าดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธ ? หลายคนอาจจะคิดว่า ดนตรีคือสิ่งที่คอยเยียวยารักษาใจผู้ฟัง แต่ในขณะเดียวมันก็เป็นบทบันทึกสั้น ๆ พร้อมตัวโน้ตที่ช่วยปลุกเร้าให้คนที่เจ็บปวดในโลกใบนี้มีชีวิตสู้ต่อไป
แน่นอนว่าส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ดนตรีกระแสหลักย่อมหนีไม่พ้นเพลงรักที่ครองใจผู้คนทั่วไป และเข้าใจได้ง่าย แต่รากฐานของสิ่งนี้ล้วนถือกำเนิดจากการเมืองแทบทั้งสิ้น อีกทั้งมันมีส่วนขับเคลื่อนให้กับวงการอื่น ๆ ได้ในแบบที่ไม่มีใครคาดคิด
อย่างเช่น บทเพลง Seven Nation Army ของ The White Stripes วงการาจร็อกจากดีทรอยต์ กับอินโทรเบสสุดติดหูที่หากใครนึกไม่ออก ลองเปิดเพลงฟังไปพร้อม ๆ กับอ่านรับรองว่าจะต้องร้องอ๋อแน่นอน
อีกทั้งกลายเป็นแทร็คสุดคลาสสิคที่ถูกนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬามากมายทั่วโลก และแน่นอนว่า ฟุตบอลก็คือหนึ่งในเช่นกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
UFA ARENA จึงขอพาไปพบกับ เส้นทางของบทเพลงสุดฮิตก่อนจะกลายเป็นเพลงที่แฟนบอล และแฟนกีฬาได้ยินและส่งเสียงร้องตามกันได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลกใบนี้
จุดเริ่มต้นบทเพลงตำนาน
คณะ The White Stripes เริ่มต้นขึ้นมาในปี 1997 โดยประกอบไปด้วย แจ็ค ไวท์ ทำหน้าที่เขียนเพลง, ร้องนำ, เล่นกีตาร์ และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ขณะที่ แม็ก ไวท์ ตีกลอง, เล่นเพอร์คัชชัน และร้องในบางครั้ง
จุดที่ทำให้ อดีตสามี-ภรรยา ดูโอ้ร็อคแบนด์ มีเอกลักษณ์และโดดเด่นเหนือกว่าวงดนตรีส่วนใหญ่ทั่วไปคือ สมาชิกทั้ง 2 ทำเพลงด้วยตัวเองทั้งหมด ทั้งการเขียนเพลงและบันทึกเสียง แม้กระทั่งคอนเสิร์ตที่เล่นสดแค่ 2 คน ไม่มีนักดนตรีอื่นเพิ่มเติม ซึ่งพวกเขาได้ใช้เครื่องดนตรีที่จำกัดให้คุ้มค่าที่สุด
วงการาจร็อคจาก ดีทรอยต์ มีผลงานสตูดิโออัลบั้ม 6 ชุด เริ่มตั้งแต่ The White Stripes (1999), De Stijl (2000), White Blood Cells (2001), Elephant (2003), Get Behind Me Satan (2005), Icky Thump (2007) ก่อนประกาศแยกวงอย่างเป็นทางการในปี 2011
แต่อัลบั้มที่ทำให้ The White Stripes ขึ้นมาเป็นวงร็อคแถวหน้าของโลก ก็คือ Elephant สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 ในปี 2003 โดยมีบทเพลงลำดับแรกอย่าง Seven Nation Army เป็นตัวชูโรง และกลายเป็นเพลงชาติของวงในทันที หลังปล่อยสู่รูหูประชาชีภายในปีนั้น
แจ็ค ไวท์ เริ่มต้นแต่งริฟฟ์เพลงนี้ ขณะพักที่โรงแรม คอร์เนอร์ โฮเทล ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรีเลีย กับ 7 โน้ตในท่อนอินโทร ก่อนจะเล่น 7 โน้ตนี้ซ้ำ ๆ ให้ เม็ก ไวท์ เพื่อนร่วมวง กับ เบน สแวงก์ เพื่อนอีกคนได้ลองฟัง แต่ทั้งสองคนก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไร
ซึ่งเดิมที แจ็ค กะจะเก็บท่อนริฟฟ์นี้ไว้ใช้ในธีมประกอบภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ แต่สุดท้ายก็เอามาใช้ในอัลบั้มของวงแทน หลังยอมรับว่าโอกาสได้ใช้เพลงของตัวเองในหนังสายลับชื่อดังมีเพียงน้อยนิดเท่านั้น (แต่ต่อมาในปี 2008 เขาก็ได้แต่งเพลงให้หนังบอนด์จริง ๆ ภาค Quantum of Solace กับเพลง Another Way to Die โดยร้องร่วมกับ Alicia Keys)
เพลงอาจไม่ได้ดังระเบิดแบบทันทีในช่วงที่ปล่อยออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั้งโลกก็ค่อย ๆ จดจำโน้ตอินโทรง่าย ๆ เพียง 7 โน้ต แต่ทรงพลังเกินต้านทาน ก่อนจะกลายเป็นบทเพลงที่โด่งดังที่สุดของวงในเวลาต่อมา
สู่วงการลูกหนังครั้งแรก
เพลงนี้เริ่มต้นเข้าสู่วงการฟุตบอลเป็นครั้งแรกในปี 2003 ในการแข่งขันระหว่างสโมสรคลับ บรูซ สโมสรจากเบลเยี่ยม พบกับ เอซี มิลาน ยอดทีมจากอิตาลี ในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่มฤดูกาล 2003-04
ก่อนเริ่มการแข่งขันแฟนบอลคลับ บรูซ เข้าไปดื่มกินในบาร์ในเมืองมิลานและได้ยินเพลง Seven Nation Army ที่นั่น และฮัมโน้ต 7 ตัวของเพลงมาร้องโดยไม่มีเนื้อร้อง และก็ร้องแบบนั้นยามเชียร์ทีมในสนาม
ท้ายที่สุด สโมสรจาก เบลเยี่ยม เป็นฝ่ายพลิกล็อกเอาชนะ ‘รอสโซเนรี่’ 1-0 แบบไม่มีใครคาด ทำให้แฟนบอลคลับ บรูซ ร้องเป็นทำนอง “โอ…โอ…โอ๊ะ…โอ…โอ…โอ…โอ่…” เพื่อฉลองชัยชนะ ณ สนามวันนั้น รวมถึงยังโห่ร้องกันต่อยามเฉลิมฉลองบนท้องถนน ราวกับเป็นเพลงประจำชาติของพวกเขา
นับตั้งแต่นั้น เพลงนี้ก็ได้กลายเป็นเพลงเชียร์อย่างไม่เป็นทางการประจำสโมสรคลับ บรูซ ไปโดยปริยาย
แพร่กระจายไปทั่วโลก
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2006 เป็นเวลานานมากแล้ว สถานีวิทยุส่วนใหญ่ในอเมริกาเลิกเปิดเพลง Seven Nation Army ในคลื่นของพวกเขา ซึ่งตรงกับช่วงที่ โรม่า บุกไปเยือน คลับ บรูซ ในศึกแชมเปี้ยนส์ลีกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
‘หมาป่ากรุงโรม’ เป็นฝ่ายเอาชนะมาได้ในเกมนั้น แต่สิ่งที่แฟนบอลและแข้ง ‘จัลโลรอสซี่’ นำกลับมาด้วยคือเพลงเชียร์ Seven Nation Army ของ คลับ บรูซ ที่พวกเขาตกหลุมรักตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง ถึงขนาดที่ ฟรานเชสโก้ ต๊อตติ ตำนานแข้งของสโมสร ถึงขั้นต้องหาซื้ออัลบั้มของวงดูโอ้แดนมะกันมาฟังหลังจบเกมนั้นเลย
“ผมไม่เคยได้ยินเพลงนี้มาก่อนเลยนะ จนเราก้าวเข้าไปในสนามฟุตบอลที่เมืองบรูซ ตั้งแต่นั้น ผมก็ไม่สามารถเอาเสียงร้อง Po po po Po po po po ออกจากหัวได้เลย มันเป็นอะไรที่เจ๋งมาก และแฟนบอลก็พร้อมใจกันแหกปากร้องแบบอินกับเพลงสุด ๆ พอแข่งเสร็จ ผมนี่ถึงกับต้องออกไปซื้ออัลบั้มของวงนี้มาฟังเลยล่ะ” ต๊อตติ กล่าว
และก็เป็นที่แฟนบอลอิตาลีนี่เองที่นำเพลง Seven Nation Army มาประกอบการแข่งขันฟุตบอลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อเพลง “Po po po” ตามที่ ต๊อตติ ฮัมตอนให้สัมภาษณ์
โดยในฟุตบอลโลกปี 2006 ที่ทีมชาติอิตาลี เอาชนะ ฝรั่งเศส ช่วงดวลจุดโทษชี้ขาด คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 มาครอง แฟนบอล ‘อัซซูรี่’ ก็นำบทเพลงดังกล่าวเป็นเพลงเพลงเชียร์ทีมชาติประจำทัวร์นาเม้นต์อีกด้วย
นับตั้งแต่นั้น Seven Nation Army ก็ค่อย ๆ กระจายไปยังสนามฟุตบอลต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมกลายเป็นหนึ่งในบทเพลงสุดฮิตที่วงการกีฬานำใช้จนคุ้นหู ระดับเดียวกับ ‘We Are The Champions’ ของวง Queen เลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่โลกฟุตบอล
แม้ Seven Nation Army กลายเป็นส่วนหนึ่งในวงการฟุตบอลไปแล้ว แต่มัน อเมริกา บ้านเกิดของบทเพลงนี้ กลับค่อย ๆ แพร่กระจายไปอย่างช้า ๆ
แต่ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เพลงนี้กลายเป็นที่นิยมในอเมริกันเกมส์ เริ่มต้นมาจาก เพนน์ สเตท สโมสรระดับมหาวิทยาลัยที่ใช้เพลงนี้ เข้าไปในโชว์ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลในปี 2006 จนกลายเป็นเพลงฮิตในหมู่กีฬาระดับวิทยาลัยแดนลุงแซม โดยในเพลงในเวอร์ชั่นวงโยธวาทิตได้รับลิขสิทธิ์อย่างรวดเร็วและขายได้ถึง 2,000 ชุดในช่วงเวลานั้น
นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เพลงสุดฮิตของ The White Stripes เข้าไปอยู่ในเกมกีฬาระดับอาชีพของ อเมริกัน ทั้ง NFL, NBA, HL หรือแม้กระทั่งศึกมวยปล้ำอย่าง WWE
และแน่นอนว่า ณ เวลานั้น บทเพลงนี้กลายเป็นหนึ่งในแทร็คที่สนามกีฬาต้องเปิดและใช้กัน ไม่ว่าพวกเขาจะทำการแข่งขันกีฬาชนิดใดก็ตาม
บทเพลงโฟล์คอันทรงพลัง
แจ็ค ไวท์ อดีตสมาชิกวง อาจทำเงินได้พอสมควรจากสถานะเพลงที่ดังไปทั่ววงการกีฬา แต่สิ่งที่เขาตื่นเต้นกว่าคือการที่เพลงร็อคอันเด็ดเดี่ยวกลายเป็นเพลงโฟล์คสุดคลาสสิค ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่เกิดจาก ความยากแค้นของความไม่เท่าเทียมของประชาชน และตรงกับความหมายของเพลงที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งหลาย ต่อให้เอาคนมากถึง 7 กองทัพก็หยุดไม่อยู่ ตามเนื้อร้องในเพลงที่มีความยาว 3.52 นาที
“ในฐานะนักแต่งเพลงมันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน ดนตรีโฟล์คยุคใหม่ทั่วโลกเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ในบ้านและหมู่บ้านเล็ก ๆ อย่างที่เคยเป็นในอดีต และหลายครั้งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในเวทีกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอล” แจ็ค ไวท์ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับ Detroit Free Press เมื่อปี 2018
“สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นที่สุดก็คือผู้คนกำลังขับร้องทำนองซึ่งแยกออกจากบทเพลงเหมือนกับเพลง ‘Thank God I’m a Country Boy’ และ ‘We Will Rock You’ และเพลงยอดนิยมอีกมากมายที่คนกลุ่มใหญ่มักชอบปรบมือหรือร้องเพลงตาม ไม่ใช่แค่ฮัมโน้ตเพลง”
จากจุดเริ่มต้นของแฟนบอลกลุ่มเล็กของ คลับ บรูซ จากนั้นก็ โรม่า ก่อนจะกระจายเป็นวงการในวงฟุตบอล และกีฬาอาชีพชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่แปลกที่ Seven Nation Army กลายเป็นหนึ่งในบทเพลงประวัติศาสตร์ที่มีส่วนขับเคลื่อนในวงการกีฬาทั่วโลก
และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า บทเพลงและดนตรีไม่ใช่เพียงคำปลอบใจแห้ง ๆ ให้คนผิดหวังในความรักเท่านั้น แต่มันสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับผู้คนมีพลังและต่อสู้บนโลกอันโหดร้ายต่อไปในวันข้างหน้า
และมันจะเป็นแบบนั้นตลอดไป…