ชั่วโมงนี้หากจะพูดถึงผู้เล่นฟอร์มแรงในศึกกัลโช่ เซเรียอา อิตาลี ในเวลานี้ เชื่อว่าชื่อของ “คราว่า” ควิช่า ควารัตสเคเลีย แนวรุกจากนาโปลีต้องอยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน
เพราะก่อนเริ่มฤดูกาลแทบจะไม่มีใครรู้จัก แถมชื่อก็ต้องอ่านยากอีก เขาถูกซื้อเข้ามาจาก รูบิน คาซาน ด้วยราคาเพียง 10 ล้านยูโร เพื่อเข้ามาทดแทนการจากไปของ ลอเรนโซ่ อินซินเญ่ ที่โยกย้ายไปค้าแข้งในเมเจอร์ลีก ซ็อคเกอร์ส สหรัฐอเมริกา
ถือว่าเป็นการถ่ายเลือดใหม่ในเกมรุกของ นาโปลี เพราะ ดรีส์ เมอร์เท่นส์ ก็ย้ายออกไปเช่นเดียวกัน
การมาของดาวรุ่งวัย 21 ปี ที่ไม่มีใครรู้จักสร้างปรากฎการณ์ในเซเรียอาเป็นอย่างมาก เพียงแค่เกมแรกที่ออกสตาร์ทก็สามารถยิงประตู และทำแอสซิสต์ได้ทันที
ส่วนเกมที่เชื่อว่าหลายคนคงได้ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองกับฟอร์มของแข้งทีมชาติจอร์เจียรายนี้ คงเป็นนัดเปิดสนามยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่นาโปลี เปิดบ้านถล่มเอาชนะลิเวอร์พูล 4-1
ไอ้หนุ่มชื่ออ่านยาก เล่นงานแนวรับ “หงส์แดง” แบบหมดสภาพทั้ง เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และโจ โกเมซ ต่างหัวหมุนล้มระเนระนาดไม่เป็นทรง
ว่ากันว่านี่คือนักเตะที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ เฉกเช่นเดียวกับตำนานอย่าง จอร์จี้ คินคลัดเซ่ แต่มีอีกอย่างที่เหนือกว่าคือร่างกายที่แข็งแกร่ง
เส้นทางของเขายังต้องพิสูจน์อีกยาวไกล แต่ถือว่าเป็นปรากฎการณ์สำหรับแข้งจาก จอร์เจีย ที่สร้างชื่อบนลีกใหญ่ของยุโรป เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าเมื่อก่อนประเทศแห่งนี้เป็นหนึ่งในสหภาพโซเวียต ก่อนจะแยกออกตัวมาหลังหมดยุคสงครามเย็น
ไปดูกันว่า 5 ผู้เล่นจอร์เจียที่เคยโลดแล่นบนเวทีลูกหนังก่อน ควารัตสเคเลีย มีใครกันบ้าง
๐ เตมูร์ เคตส์บาย่า
หลังจบยุคสงครามเย็นบรรดาประเทศต่าง ๆ ได้แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต จอร์เจีย เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ฟุตบอลในประเทศได้เริ่มต้นใหม่ก่อตั้งเป็นลีกของประเทศตัวเองขึ้นมา เตมูร์ เคตส์บาย่า กลายเป็นเจ้าของรางวัลนักเตะยอดแห่งปีคนแรกของประเทศ ได้รางวัลนี้เมื่อปี 1990 และเป็นผู้เปิดประตูให้นักเตะจากจอร์เจียเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เส้นทางของเขาเริ่มเล่นฟุตบอลกับ ดินาโม ทบิลิซี่ สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเมืองหลวง จากนั้นย้ายออกนอกประเทศไปเล่นให้กับ อนอร์โธซิส ฟามากุสต้า ในไซปรัส และเออีเค เอเธนส์ ในประเทศกรีซ แต่ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักต่อแฟนบอลทั่วโลกคือการย้ายมาค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ กับ “สาลิกาดง” นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ในปี 1997 แบบไม่มีค่าตัว ในยุคที่ เซอร์ เคนนี่ ดัลกลิช คุมทัพ หลังจากนั้นก็ถูกขายให้กับ วูล์ฟแฮมป์ตัน ในปี 2000 ก่อนจะกลับมาแขวนสตั๊ดที่อนอร์โธซิส ฟามากุสต้า เมื่อปี 2007 ปัจจุบัน เตมูร์ เคตส์บาย่า ในวัย 54 ปี รับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมชาติไซปรัส
๐ จอร์จี้ คินคลัดเซ่
การออกไปค้าแข้งในอังกฤษของ เตมูร์ เคตส์บาย่า ทำให้นักฟุตบอลจากจอร์เจียได้รับความสนใจมากขึ้น จอร์จี้ คินคลัดเซ่ คือผู้เล่นที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์อย่างแท้จริง สมัยที่เป็นดาวรุ่งเขาเคยไปทดสอบฝีเท้ากับ เรอัล มาดริด และแอตเลติโก้ มาดริด สองสโมสรดังแห่งเมืองหลวงของสเปน แต่ไม่ได้รับการเซ็นสัญญา รวมถึงการข้ามทวีปไปเล่นให้กับ โบค่า จูเนียร์ส ในอาร์เจนติน่า ด้วย
ในปี 1995 ชื่อของ จอร์จี้ คินคลัดเซ่ ก็เป็นที่รู้จักของแฟนบอลทั่วโลกเพราะเมื่อเขาย้ายออกจาก ดินาโม ทบิลิซี่ ในบ้านเกิดมาอยู่กับ “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 2 ล้านปอนด์ ย้ายมาในช่วงแรกยังไม่สามารถปรับตัวได้ ทั้งเรื่องของสไตล์การเล่นร่างกายที่เล็กสูงเพียง 173 เซนติเมตร รวมไปถึงภาษาที่เป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อสามารถปรับตัวได้เขาได้เต็มเติมสิ่งใหม่ ๆ ให้กับ แมนฯซิตี้ ด้วยสไตล์การเล่นที่สวยงามไปกับบอลได้ดี มีความคล้าย ดิเอโก้ มาราโดน่า และจอร์จี้ ฮาจี้ เขากลายเป็นขวัญใจของแฟนบอลแมนฯซิตี้ทันที หลังจากนั้นเขาอยู่กับทีมได้ 3 ปี ก่อนจะถูกขายให้กับ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ในปี 1998 และได้กลับมาเล่นในอังกฤษอีกครั้งกับ “แกะเขาเหล็ก” ดาร์บี้ เค้าท์ตี้ ในเวลาต่อมา
๐ โชต้า อาเวลัดเซ่
หัวหอกเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกับ จอร์จี้ คินคลัดเซ่ เติบโตมาด้วยกันที่สโมสร ดินาโม ทบิลิซี่ หลังจากนั้นเส้นทางของทั้งคู่ก็แยกกันไป อาเวลัดเซ่ มีโอกาสได้ไปเล่นในตุรกีกับ แทร็ปซอนสปอร์ ด้วยสัญญายืมตัวเมื่อปี 1994 ช่วงเวลาสั้น ๆ เขากลายเป็นที่รักของแฟนบอลสโมสรแห่งนี้ ก่อนที่ทีมจะตัดสินใจซื้อเข้ามาร่วมทีมแบบถาวรในปีต่อมา
ดาวยิงรายนี้จัดว่าเป็นจอมถล่มประตูที่มีสถิติยิงกระจายให้กับทุกสโมสรที่ลงเล่น จนในปี 1997 เขาย้ายไปค้าแข้งในลีกดัตช์กับทีมยักษ์ใหญ่อย่าง อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม และที่สโมสรแห่งนี้ทำให้เขาได้ร่วมงานกับเพื่อนซี้อย่าง คินคลัดเซ่ อีกครั้ง ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ลีก และบอลถ้วย ก่อนจะโยกไปอยู่กับ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ยิงประตูได้อย่างมากมาย สุดท้ายแล้วเลือกแขวนสตั๊ดกับ เลบานเต้ เมื่อปี 2008
นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของสถิติดาวซัลโวสูงสุดของทีมชาติจอร์เจีย ด้วยการลงเล่นไป 61 นัด ยิงได้ 26 ประตู หลังเลิกเล่นฟุตบอลก็ผันตัวสู่เส้นทางโค้ช ปัจจุบันทำงานในอังกฤษคุมทีม “เดอะ ไทเกอร์ส” ฮัลล์ ซิตี้ ในศึกเดอะ แชมเปี้ยนชิพ
๐ คาค่า คาลัดเซ่
หากจะพูดถึงนักเตะชาวจอร์เจียที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด แน่นอนคงไม่มีใครเหนือกว่า คาค่า คาลัดเซ่ อดีตแนวรับของ “ปีศาจแดงดำ” เอซี มิลาน ที่สร้างชื่อในอิตาลียาวนานถึง 9 ปี เลยทีเดียว เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จคว้าทุกแชมป์กับ เอซี มิลาน เซเรียอา 1 สมัย, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2 สมัย รวมไปถึงชิงแชมป์สโมสรโลกด้วย
นอกจากนี้เขายังกลายเป็นผู้เล่นที่ครองรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำปีของประเทศจอร์เจียมากที่สุดคือ 5 สมัย (2001, 2002, 2003, 2006 และ2011) และยังถูกบรรจุชื่อเข้า “Hall of fame” หรือหอเกียรติยศของสโมสรเอซี มิลาน ด้วย
หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลเส้นทางของไม่ได้ทำงานโค้ชเหมือนคนอื่น ๆ เขาเลือกเป็นนักลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานทั้งในบ้านเกิดจอร์เจีย, อิตาลี, ยูเครน รวมไปถึงคาซัคสถาน ก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา และยังมีธุรกิจร้านอาหารอีก หลังจากนั้นเขาหันไปเล่นการเมืองเคยนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของจอร์เจีย ก่อนจะตัดสินใจลาออกเพื่อลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองทบิลิซี่ ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงโหวตถล่มทลายเมื่อปี 2017 และปัจจุบันก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่
๐ เลวาน โคเบียชวิลี่
อีกหนึ่งนักเตะที่ผ่านการค้าแข้งกับทีมในเมืองหลวงอย่าง ดินาโม ทบิลิซี่ โดยเล่นในตำแหน่งแบ็คซ้าย เป็นเด็กปั้นของ ดาวิด คีเปียนี่ แข้งระดับตำนานในยุคที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต ในปี 1998 เขาตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งในเยอรมันกับ “จิ้งจอกแห่งป่าดำ” ไฟร์บวร์ก ด้วยสัญญายืมตัว ได้รับร่วมงานกับผู้เล่นสัญชาติเดียวกันอย่าง อเล็กซานเดอร์ ลาสวิลี่ และเลวาน สคีติสวิลี่
หลังจากโชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจเขาได้รับสัญญาถาวรจาก ไฟร์บวร์ก ด้วยผลงานที่โดดเด่นทำให้ในปี 2003 ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อหมดสัญญากับ ไฟร์บวร์ก ย้ายมาอยู่กับ ชาลเก้ 04 สโมสรยักษ์ใหญ่ในเวลานั้น การย้ายมาทำให้ได้ร่วมงานกับผู้เล่นดัง ๆ อย่างอันเดรียส โมลเลอร์ และเอ็บเบ ซานด์
โดยกุนซือคนแรกที่ได้ร่วมงานด้วยคือจุ๊ปป์ ไฮย์เกส ส่งเขาลงเล่นในตำแหน่งแบ็คซ้ายตามถนัด ก่อนที่กุนซือคนต่อมาอย่าง ราล์ฟ รังนิก จะดัดแปลงให้ไปเล่นมิดฟิลด์และทำผลงานได้ดีเกินคาด เรียกได้ว่าสโมสรแห่งนี้สร้างชื่อให้กับเขามากที่สุด
ในปี 2010 เขาเลือกไปค้าแข้งกับทีมแห่งเมืองหลวงอย่าง “หญิงชรา” แฮร์ธ่า เบอร์ลิน และแขวนสตั๊ดไปในปี 2014 และเป็นผู้เล่นคนแรกของทีมชาติจอร์เจียที่ลงสนามให้กับทีมเกินหลัก 100 นัด ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลจอร์เจีย ควบด้วยสมาชิกรัฐสภาจอร์เจีย และยังมีบทบาทเป็นประธานคณะกรรมการของยูฟ่าด้วย