นโยบายโก๋อุ้ม : แนวทางการบริหารบอลสไตล์ญี่ปุ่น

นับเป็นอีกหนึ่งกระแสร้อนแรงกับประเด็นที่ ธีราทร บุญมาทัน ออกมาพูดถึงการทำงานของฟุตบอลญี่ปุ่น เมื่อกี่วันก่อนหน้านี้ และสะท้อนให้เห็นการจัดการของฟุตบอลไทย ที่ยังตามหลังอยู่อย่างชัดเจน

ต้องบอกเลยว่า วงการฟุตบอลแดนปลาดิบ ถือว่ามีการวางแผนและบริหารยอดเยี่ยมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในหลายด้าน ซึ่งนั่นทำให้ฟุตบอลญี่ปุ่น ก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย และอันดับต้นๆ ของโลกแล้วก็ว่าได้

โดยวันนี้ UFAARENA จะขอพาไปดูระบบการบริหารงานที่น่าสนใจของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น และดูว่าสิ่งใดบางที่เราควรเรียกรู้และนำมาต่อยอดใช้งานกับฟุตบอลบ้านเราต่อไป

 

วางแผน ฟีฟ่า เดย์

ญี่ปุ่น ถือเป็นชาติอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย ที่มีการวางแผนเกี่ยวกับโปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ ได้อย่างเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรศึกษาและนำมาใช้ประโยชน์อย่างยิ่ง

อย่างที่เรารู้กันดีว่า ในแต่ละปีทางฝั่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ จะมีการกำหนดช่วงเวลาของโปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ ออกมาล่วงหน้า เพื่อให้แต่ละชาติวางแผนหาเกมอุ่นเครื่อง และจัดโปรแกรมการแข่งขันลีกในประเทศ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน

สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากการทำงานของสมาคมฟุตบอลแดนปลาดิบ คือทุกครั้งเมื่อถึงช่วงโปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ ทีมชาติญี่ปุ่น จะมีโปรแกรมลงสนามต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกมอุ่นเครื่อง หากพวกเขาไม่มีทัวร์นาเมนต์ทางการให้ลงเล่น

แถมทีมที่มาเตะอุ่นเครื่องกับพวกเขาล้วนเป็นทีมระดับแถวหน้าทั้งจากยุโรป และอเมริกาใต้ ซึ่งหากนับเฉพาะปี 2022 พวกเขาเพิ่งมีโอกาสลงเตะกับทีมอย่าง ปารากวัย, กาน่า, ตูนิเซีย และ บราซิล

เพราะฉะนั้นหากสมาคมฟุตบอลไทย สามารถวางแผนเกี่ยวกับโปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ ได้ดีแบบเดียวกับญี่ปุ่น นอกจากจะทำให้มีโปรแกรมลงสนามเพื่อทดลองทีมต่อเนื่องแล้ว การได้เจอกับทีมที่แข็งแกร่งกว่าเป็นประจำ ก็จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเราด้วยเช่นกัน

 

ใช้นักเตะในประเทศลงเล่นรายการระดับภูมิภาค

สำหรับแฟนบอลไทย นี่คือสิ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง แต่ยากที่จะเกิดขึ้นจริง อย่างที่เราเห็นเมื่อช่วงปลายปี 2021 ในศึกฟุตบอล เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ แม้จะเป็นแค่การแข่งขันระดับอาเซียน แต่เราเลือกที่จะส่งผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดลงทำการแข่งขัน เพื่อคว้าแชมป์ รักษาศักดิ์ศรีความเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาคต่อไป

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น เลือกที่จะทำ เพราะสำหรับการแข่งขัน อีเอเอฟเอฟ อี-1 ฟุตบอล แชมเปี้ยนชิพ หรือฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก นับเป็นเวทีสำหรับนักเตะในลีกที่ทำผลงานได้ดีและดาวรุ่งให้ได้แจ้งเกิด

สำหรับทีม “ซามูไร” การลงเล่นรายดังกล่าว พวกเขาเลือกใช้งานเฉพาะผู้เล่นในประเทศเท่านั้น ผสมผสานกับเหล่าดาวรุ่งที่ต้องการหาประสบการณ์ในระดับทีมชาติ แม้ผลการแข่งจะออกมาไม่ดีก็ตาม

ทว่าชัยชนะสำหรับพวกเขาถือเป็นเรื่องรอง แต่การได้เพิ่มประสบการณ์ให้กับนักเตะอายุน้อย รวมถึงโอกาสลงสนามรับใช้ทีมชาติของบรรดาแข้งหน้าใหม่ เพื่อต่อยอดขึ้นไปเล่นกับทีมชุดใหญ่ ถือเป็นประโยชน์มากกว่า

 

ทีม U23 สำหรับดาวรุ่งหน้าใหม่และเด็กมหาลัย

ญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งชาติที่พัฒนานักเตะดาวรุ่งขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนสามารถต่อยอดไปถึงการติดทีมชาติชุดใหญ่ และมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่มีโอกาสย้ายไปเล่นยังลีกยุโรป

การวางแผนพัฒนาเยาวชนของญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือการมอบโอกาสให้กับเหล่าดาวรุ่งได้ลงเล่นในระดับชาติ โดยเฉพาะกับทีมชุด U23 ปี เห็นได้ชัดว่า หากไม่ใช่ทัวร์นาเมนต์สำคัญอย่าง โอลิมปิก เกมส์ หรือฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี พวกเขาจะไม่ค่อยเลือกใช้ผู้เล่นตัวหลัก แต่จะเป็นการเรียกใช้งานนักเตะในช่วงอายุ 19-20 รวมถึงนักฟุตบอลระดับมหาวิทยลัย แทน

อย่างเช่นการแข่งขัน เอเชี่ยน เกมส์ พวกเขาจะเลือกนักเตะอายุ 19-20 ปี ลงทำการแข่งขัน ซึ่งนี่จะเป็นการต่อยอดในระดับทีมชุด U23 เพื่อใช้สำหรับลงเตะ โอลิมปิก เกมส์ หรือ  ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในปีต่อไป

นอกจากจะเป็นการมอบโอกาสให้กับนักเตะดาวรุ่งหน้าใหม่แล้ว ยังทำให้ฟุตบอลลีกไม่จำเป็นต้องพักการแข่งขันเพื่อหลีกเลี่ยงโปรแกรมทับซ้อนกับรายการในระดับ U23 ด้วย ในกรณีที่สโมสรไปต้องการปล่อยผู้เล่นตัวหลักออกจากทีม

 

ทีมชาติสไตล์การเล่นชัดเจน

อีกสิ่งหนึ่งสำคัญที่เราเห็นได้ชัดจากทีมชาติญี่ปุ่น คือการวางระบบแผนและสไตล์การเล่นที่สอดคล้องกันในทีมแต่ละชุด เพื่อให้มีความต่อเนื่องตั้งแต่ทีมเยาวชนจนถึงชุดใหญ่

อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่า ฟุตบอลญี่ปุ่น เป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการเล่นบอลระบบเป็นหลัก ซึ่งพวกเขาปลูกฝังสิ่งนั้นให้กับนักเตะตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนอายุน้อย

นั่นทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าทีม “ซามูไรบลูส์” ชุดใดก็ตามลงสนาม สไตล์บอลและรูปแบบการเล่น จะเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งหากว่านักเตะจากทีมเยาชนถูกดันขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ พวกเขาก็จะไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน และสามารถเข้าใจระบบการเล่นได้ทันที

นี่คือหนึ่งจุดแข็งสำคัญของการพัฒนาฟุตบอลของญี่ปุ่น ที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ระดับทีมเยาวชน ซึ่งถือเป็นประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว

 

แยกการทำงานในแต่ละชุดแบบชัดเจน

แม้มีการกำหนดรูปแบบแผนและสไตล์การเล่นให้เหมือนกัน แต่ระบบจัดการของทีมชาติในแต่ละชุดถูกแยกออกจากกันแบบชัดเจน

อย่างที่เราเห็นหลายทีมในอาเซียน รวมถึงทีมชาติไทย มักเลือกที่จะใช้งานกุนซือขอทีมชุด U23 และชุดใหญ่คนเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีการแบ่งการทำงานแบบชัดเจน แยกระหว่างทีมชุดใหญ่ และทีมชุดเยาวชน น่าจะเป็นผลดีกับการเตรียมทีมมากกว่า

หากเรามองไปทีชาติอย่าง ญี่ปุ่น พวกเขามีการแบ่งการทำงานของทีมแต่ละชุด และมอบหน้าที่การทำงานให้กับกุนซือในชุดนั้นๆ โฟกัสกับการทำงานเต็มที่ และไม่ต้องแบกรับภาระที่มากเกินไป