นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจากดิวิชั่น 1 มาเป็น พรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดจากอังกฤษก็เต็มไปด้วยไอเดียลูกหนังจากประเทศต่างๆมากมายที่เข้ามาหลอมรวมวิธีการเล่นจนเกิดความหลากหลาย และศาสตร์แบบดัตช์ เป็นหนึ่งในชาติที่สร้างอิมแพ็คในลีกได้มากเป็นอันดับต้นๆ
นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ ฮอลแลนด์ ถือเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อฟุตบอลในประเทศต่างๆอย่างมาก โดยเฉพาะไอเดียบรรลือโลกอย่าง โททั่ล ฟุตบอล ที่กลายเป็นต้นแบบให้ฟุตบอลสมัยใหม่ได้พัฒนาอย่างเช่นที่เป็นในปัจจุบัน
และล่าสุดผู้คนมากมาย โดยเฉพาะแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็คาดหวังอย่างมากว่า เอริค เทน ฮาก ที่เตรียมเข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของสโมสร จะสร้างอิมแพ็คและยกระดับทีมให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง จากผลงานที่เขาสร้างกับ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ตลอด 4 ปีครึ่งที่ผ่านมา
แต่สิ่งหนึ่งที่ เทน ฮาก ควรทำคือการเรียนรู้ฟุตบอลอังกฤษจากบรรดากุนซือร่วมชาติที่เคยมาทำงานที่นี่ก่อนหน้านี้ และ UFA ARENA จะพาไปพบกับ 8 กุนซือดัตช์แมนในพรีเมียร์ลีกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมผลงานว่าดีหรือแย่อย่างไรในแดนผู้ดี
แฟรงค์ เดอ บัวร์ | คริสตัล พาเลซ
แค่ 4 เกม กับ 0 แต้ม และการถูกตราหน้าว่าเป็น “กุนซือที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก” โดย โชเซ่ มูรินโญ่ ยิ่งตอกย้ำว่าช่วงเวลาในอังกฤษของ แฟรงค์ เดอ บัวร์ เลวร้ายแค่ไหน
บางที มูรินโญ่ อาจพูดถูกก็ได้ เพราะ อดีตกองกลางทีมชาติฮอลแลนด์ ไม่แค่กุนซือชั่วคราว เพราะเข้ามารับงานเป็นกุนซือถาวรกับ คริสตัล พาเลซ แต่ผลงานที่ย่ำแย่เกินไปใน 4 เกม ก็เพียงพอให้บอร์ด ‘ปราสาทเรือนแก้ว’ เห็นพ้องต้องกันว่าควรเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในเดือนกันยายนปี 2017
อย่างไรก็ตาม เดอ บัวร์ คนพี่ ได้ออกมาอ้างว่า พาเลซ ก็ไม่ได้มีคุณภาพนักเตะดีพอเช่นทีมก่อนๆที่เขาเคยคุมเช่นกัน รวมไปถึงผู้เล่นท็อกซิกที่สโมสรไม่สามารถเขี่ยออกไปได้ด้วย จากการให้สัมภาษณ์กับ The Independent เมื่อปี 2018
“หลายครั้งที่คุณไปที่สโมสร และพบว่าเคมีเข้ากันไม่ได้จริงๆ นั่นเป็นเหตุว่าทำไมผมถึงเล่นในรอบกองหลัง 5 คนในแผน 5-4-1 เน้นเกมรับมากๆ ก็ไม่ใช่ไอเดียของผมหรอก แต่มันจำเป็นกับผู้เล่นที่ผมมีในเวลานั้น”
เรเน่ มูเลนสตีน | ฟูแล่ม
เรเน่ มูเลนสตีน เป็นที่รู้จักในฐานะโค้ชมากกว่าผู้จัดการทีม เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่เป็นหนึ่งในทีมสต๊าฟโค้ชและกุนซือทีมเยาวชนใน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน รวมถึงสนิทสนมกับ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ที่คุมทีมชุดสำรองในเวลานั้นด้วย
ทั้งคู่แลกเปลี่ยนไอเดียงานโค้ชและแท็คติกบ่อยๆ ก่อนที่ โซลชา จะย้ายไปรับงานกุนซือครั้งแรกของตัวเองกับ โมลด์ ในปี 2013 และหลังจากนั้นไม่นาน โค้ชชาวดัตช์ ก็ได้โอกาสครั้งใหญ่ด้วยการแต่งตั้งเป็นกุนซือ ฟูแล่ม แทนที่ มาร์ติน โยล ที่โดนปลดไปในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการเป็นสต๊าฟโค้ชจะเหมาะกับ มูเลนสตีน มากกว่า เมื่อพา ‘เจ้าสัว’ เก็บได้เพียง 10 แต้มจาก 13 เกม ก่อนถูกปลดในวันวาเลนไทน์ปี 2014 และให้ เฟลิกซ์ มากัธ มารับช่วงต่อ แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ทีมปลอดภัย และตกชั้นในฤดูกาลนั้นด้วยอันดับที่ 19
ดิ๊ก อัดโวคาต | ซันเดอร์แลนด์
ดิ๊ก อัดโวคาต เป็นกุนซือชาวดัตช์ที่มีประสบการณ์โชกโชนกับ 41 ปี ในงานผู้จัดการทีม มากเสียยิ่งกว่า เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่มี 39 ปี หรือแม้กระทั่ง อาร์เซน เวนเกอร์ ที่มีเพียง 34 ปี
โดยในช่วงเวลานั้นมีทั้งการหวนคุมทีมชาติฮอลแลนด์ถึง 3 ครั้ง, รุ่งเรืองสุดๆกับ กลาสโกว เรนเจอร์ส รวมไปถึง 3 ปีในการคุม เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งทำให้เขาได้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกับการพาทีมคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ ในปี 2008
อย่างไรก็ตาม 13 เกมในการคุมซันเดอร์แลนด์ เมื่อปี 2015 ไม่ได้ดีพอจนทำให้ได้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของ แม็กเคม แต่อย่างน้อยก็พาทีม ‘แมวดำ’ หนีรอดตกชั้นได้สำเร็จตามเป้าหมายในฤดูกาล 2014-15
นั่นทำให้ กุนซือดัตช์แมน จะได้รับการขยายสัญญากับทีมอีก 1 ฤดูกาล ทว่านั้นกลับเป็นเรื่องผิดพลาด เพราะ อัดโวคาต พาทีมวนเวียนโซนตกชั้นอีกครั้งก่อนโดนปลดในเดือนตุลาคม
กุส ฮิดดิงก์ | เชลซี
กุส ฮิดดิงก์ เป็นผู้จัดการทีมชาวดัตช์ที่มีค่าเฉลี่ยเก็บแต้มต่อเกมได้ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก โดย 2 ช่วงเวลาที่เขาได้คุม เชลซี ในฐานะกุนซือชั่วคราว เก็บไปถึง 1.94 แต้มต่อเกม
อีกทั้งเขายังเป็นกุนซือดัตช์คนแรกที่คว้าแชมป์ในอังกฤษ หลังพา ‘สิงห์บลูส์’ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 2009 ที่ถูกดึงมาแทนที่ หลุยส์ ฟิลิเป้ สโคลารี่ แถมพาทีมแพ้แค่ครั้งเดียวเท่านั้นจาก 22 เกม ก่อนกลับทำหน้าที่กุนซือทีมชาติรัสเซียตามเดิม
ฮิดดิงก์ กลับมา สแตมฟอร์ด บริดจ์ อีกครั้ง ในปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่สโมสรเจอวิกฤต โดยรับช่วงต่อจาก โชเซ่ มูรินโญ่ ที่เข้ามาคุมทีมเป็นคำรบที่ 2 เช่นกัน แต่ถูกปลดหลังพาทีมหล่นไปรั้งอันดับที่ 16 ทั้งๆที่พาทีมคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาลก่อน
กุนซือแดนกังหัน ช่วยให้ เชลซี ดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มากมายเหมือนที่เขาเคยทำได้ในครั้งแรก และพาทีมจบอันดับ 10 ในลีก โดยไม่มีลุ้นแชมป์บอลถ้วยรายการใดๆเลย
หลุยส์ ฟาน กัล | แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ช่วงเวลาของ หลุยส์ ฟาน กัล กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นสิ่งที่แฟนบอล ‘ปีศาจแดง’ จดจำได้ไม่มีวันลืม แม้ประสบความสำเร็จแค่แชมป์ เอฟเอ คัพ รายการเดียวก็ตาม
ทั้งลีลาสุดปั่นข้างสนาม หรือในงานแถลงข่าว เข่ร ทำท่าลืมทั้งยืนในเกมพบ อาร์เซน่อล เมื่อปี 2016, เรียก คริส สมอลลิ่งว่า ไมค์ หรือร้องเพลงเชียร์ของตัวเองออกมาอย่างภูมิใจ เป็นต้น
ทว่าช่วงเวลากับ ยูไนเต็ด ที่ไม่ราบรื่นนัก ทำให้ เจ้าของฉายา ‘ทิวลิปเหล็ก’ ออกมาโจมตีสโมสรบ่อยๆในแง่ของการบริหาร โดยเฉพาะ เอ็ด วู้ดเวิร์ด อดีตซีอีโอที่โดนจัดหนักว่าไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอลแม้แต่นิดเดียว อีกทั้งเป็นคนแรกๆที่ออกมาเตือน เทน ฮาก ว่าอย่ารับงานใน โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เด็ดขาด
“เอริค เทน ฮาก เป็นโค้ชที่ยอดเยี่ยม และนั่นดีเสมอสำหรับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่เน้นเรื่องกำไร ดังนั้นจึงเป็นงานที่ยากสำหรับโค้ช ทางที่ดีเขาไม่ควรไปที่สโมสรฟุตบอลแห่งนั้น” กุนซือทีมชาติฮอลแลนด์ กล่าว
รุด กุลลิท | เชลซี, นิวคาสเซิล
ไม่มีใครปฏิเสธว่า รุด กุลลิท เป็นหนึ่งในตำนานแข้งของวงการฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในสโมสร และทีมชาติฮอลแลนด์กับแชมป์ยูโรปี 1988
ช่วงบั้นปลายอาชีพค้าแข้ง เขาย้ายมาเล่นในพรีเมียร์ลีกกับ เชลซี พร้อมเป็นจุดเริ่มต้นในงานกุนซือ เมื่อทำหน้าที่ผู้เล่นควบกุนซือ หลัง เกล็น ฮ็อดเดิ้ล ลาทีมในปี 1996 และกลายเป็นผู้จัดการทีมผิวดำคนแรกที่คว้าแชมป์ในฟุตบอลอังกฤษ กับถ้วย เอฟเอ คัพ ในปี 1997
แต่ด้วยผลงานที่แย่ลงทำให้ อดีตกองกลางทัพ ‘อัศวินสีส้ม’ ถูกปลดในปีต่อมา จากนั้นก็ได้โอกาสคุม นิวคาสเซิ่ล ในปี 1998 พร้อมพาทีมเข้าชิง เอฟเอ คัพ ในปี 1999 ทว่าก็พ่ายให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เตรียมก้าวขึ้นไปคว้าทริปเบิ้ลแชมป์หลังจากนั้น
ผลงานของ กุลลิท ในทีม สาลิกาดง ถือว่าเข้าตาใช้ได้ ทว่าการมีปัญหากับ อลัน เชียเรอร์ สตาร์เบอร์หนึ่งของสโมสร ก็ทำให้เขาตัดสินใจลาออก หลังทำหน้าที่ได้เพียง 5 เกมในฤดูกาล 1999-2000
“รุด กุลลิท ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการกับนักเตะส่วนตัวในห้องแต่งตัว ณ เวลานั้น” น็อบบี้ โซลาโน่ อดีตแข้ง นิวคาสเซิ่ล กล่าว
“เขาตัดสินมันด้วยความคิดแบบผู้เล่น แน่นอนว่าเขาเป็นหนึ่งในนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่เขาไม่ได้คิดถึงมันแบบผู้จัดการทีม เขาอยากเข้าร่วมการฝึกซ้อม และโชว์ออฟอยู่เรื่อยๆ”
โรนัลด์ คูมัน | เซาแธมป์ตัน, เอฟเวอร์ตัน
เช่นเดียวกับ กุลลิท ไม่มีใครสงสัยในตัวของ โรนัลด์ คูมัน ฐานะดาวเตะเบอร์ต้นๆในช่วงที่เขาค้าแข้ง และประสบความสำเร็จมากมาย อีกทั้งเมื่อผันตัวเป็นผู้จัดการทีมก็ประสบสำเร็จเช่นกัน ทั้งแชมป์ลีกเอเรดิวิซี่ กับ อาแจ็กซ์, พีเอสวี หรือแชมป์โกปา เดล เรย์ กับ บาเลนเซีย
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา 3 ปีในอังกฤษของ คูมัน กับการคุม เซาแธมป์ตัน และ เอฟเวอร์ตัน ต้องบอกว่าไม่ต่างกับการนั่งรถไฟเหาะเลย
กับทีม ‘นักบุญ’ กุนซือชาวดัตช์ พาทีมจบอันดับ 6 ในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015-16 พร้อมคว้าตั๋วไปเล่นในยูโรป้า ลีก รอบแบ่งกลุ่ม เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ทว่าเขาก็ไม่ได้คุมทีมไปลุยบอลยุโรปเอง เนื่องจากในซัมเมอร์ปี 2016 เขาย้ายมาคุมทีม ‘ท็อฟฟี่สีน้ำเงิน’ แทนที่ โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ
แรกเริ่มก็ดูดี หลังจบอันดับพาทีมไปเล่น ยูโรป้าลีก ในฤดูกาลแรกที่ กูดิสัน ปาร์ค จนทำให้ บอร์ดทุ่มเงินกว่า 100 ล้านปอนด์ในการเสริมทัพช่วงซัมเมอร์ปี 2017 ทว่าทีมกลับหล่นไปอยู่โซนตกชั้นซะอย่างนั้น
และก็ไม่แปลกเช่นกันที่ คูมัน จะโดนเด้งพ้นตำแหน่งกุนซือ โดยให้ เดวิด อันสเวิร์ธ เป็นกุนซือขัดตาทัพ ก่อนที่จะดึง แซม อัลลาร์ไดซ์ เข้ามากอบกู้สถานการณ์จนพาทีมจบอันดับ 8 ได้
มาร์ติน โยล | สเปอร์ส, ฟูแล่ม
ด้วยจำนวน 276 แต้มทำให้ มาร์ติน โยล เป็นผู้จัดการทีมชาวดัตช์ที่เก็บแต้มได้มากที่สุดประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก
บางทีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เมื่อพิจารณาจากการที่เขาคุมทีมในลีกผู้ดีมากที่สุดในลิสต์นี้ ด้วยจำนวน 201 นัดในช่วงที่รับงานกับ สเปอร์ส และ ฟูแล่ม
โยล มีช่วงเวลาที่ดีกับ สเปอร์ส แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยกระดับ ‘ไก่เดือยทอง’ ขึ้นมาได้อย่างที่ควรจะเป็น หลังไม่สามารถพาทีมจบท็อปโฟร์เพื่อคว้าตั๋วลุยแชมเปี้ยนส์ลีกได้ตลอด 3 ปีเศษ
หลังห่างหายจากแดนผู้ดีไป 4 ปี กุนซือดัตช์แมน ก็กลับมาที่ลอนดอนอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็น ฟูแล่ม ในปี 2011 ซึ่งทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วง 2 ปีแรกกับ ‘เจ้าสัว’ แต่สุดท้ายก็ถูกปลดกลางคัน เนื่องจากฟอร์มแย่เกินทนในฤดูกาลที่ 3