ณ ค่ำคืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2012 เกิดเหตุระเบิดขึ้นในร้านเบเกอรี่ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศกรีซ จนกระจกแตกเป็นเสี่ยงๆ พร้อมสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงบางส่วนภายในร้าน
แม้ถือเป็นเคราะห์ดีที่ในร้านไม่มีใครอยู่ และไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เปตรอส คอนสแตนตินิอัส เจ้าของร้านคือเป้าหมายของการจู่โจมครั้งนี้แน่นอน
โดย คอนสแตนตินิอัส คือกรรมการชาวกรีกที่ทำหน้าที่ในลีกสูงสุดของประเทศ ซึ่งหากไม่อยู่ในสนาม ก็สามารถพบเขาได้ที่ร้านเบเกอรี่ที่เขาเป็นเจ้าของ ซึ่งนี่ถือเป็นธุรกิจภายในครอบครัว ณ คาลามาต้า เมืองเกิดของเขา บนคาบสมุทรเเพโลพอนนีเซีย
นี่เป็นงานหนึ่งที่เขารัก และเป็นวิธีที่ช่วยให้เขาหลุดออกจากความรุนแรงในวงการลูกหนังแดนเทพนินายชั่วขณะ และทว่า คอนสแตนตินิอัสส ก็กลายเป็นคนที่โลกจับตามองเช่นกันจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ระเบิดถูกวางไว้ในเตาอบขนมปัง และเจ้าตัวเชื่อว่าเขารู้ว่าใครเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ช่วง 2-3 วันก่อนที่เขาจะทำหน้าที่ตัดสินเกมลีกระหว่าง ซานธี พบ โอลิมเปียกอส มีชาย 2 คนมาเพื่อพบเขา
“พวกเขายืนยันว่า โอลิมเปียกอส ต้องชนะในเกมนั้น และพวกเขาก็ข่มขู่ผม แต่ผมไม่เคยมีส่วนร่วมกับระบบนั้น ผมยอมให้ใครซื้อไม่ได้หรอก” คอนสแตนตินิอัส กล่าว
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสอบสวนในพื่นที่ แต่ก็ไม่มีการจับกุมหลังจากการระเบิดครั้งนั้น อีกทั้งก็ไม่มีใครถูกตัดสินลงโทษจากการจู่โจมที่อุกอาจด้วย
เมื่อจบฤดูกาล 2011-12 คอนสแตนติเนียส วางมือจากงานตัดสิน ซึ่งต่อมาก็ผันตัวไปเล่นการเมือง โดยในปี 2015-2019 ดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภากับพรรคฝ่ายซ้ายจัดอย่าง ซิริซ่า
“หลังจากการระเบิด ผมเริ่มหวาดกลัวกับครอบครัวของผม ผมส่งพวกลูกๆไปซ่อนตัว ไม่เคยคิดเลยว่าจะทำถึงขนาดนี้” เขากล่าวต่อ
เกือบ 10 ปีต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในวงการฟุตบอลของกรีซ การข่มขู่และความรุนแรงยังคงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับการแข่งขันเกมลูกหนังในประเทศนี้
ย้อนกลับไปในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชายวัย 19 ปี ถูกแทงเสียชีวิตนอกสนาม อาริส เอฟซี ซึ่งแฟนบอลของ พีเอโอเค ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย โดยทั้ง 2 ทีมต่างเป็นคูอริร่วมเมือง เทสซาโลนิกิ ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศและมีผู้ต้องหารายหลายถูกจับกุม
ระหว่างเหตุการณ์รุนแรงทั้ง 2 นี้ บ่งบอกว่าความยุ่งเหยิงของฟุตบอลในประเทศนี้มีมานานมากแค่ไหน และโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังก็ดูเหมือนว่าจะผ่านไปนานแล้ว…
ความตกต่ำอันเนิ่นนาน
หลายคนคิดว่า ธีโอโดรอส ซาโกราคิส จะเป็นชายที่แก้ปัญหานี้ ทั้งความนิยมของเขาในอดีตกับการเป็นกัปตันทีมชาติกรีซชุดแชมป์ยูโร 2004 ซึ่งในเดือนมีนาคมปี 2021 เขาก็ได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมฟุตบอลของประเทศ
อดีตแข้งฮีโร่ของชาติมีความทะเยอทะยานในการกวาดล้างคอรัปชั่นให้หมดไป แต่ช่วงเวลาฮันนีมูนก็เกิดขึ้นแค่ 165 วันเท่านั้น เมื่ออดีตกองกลาง เลสเตอร์ ซิตี้ ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 กันยายน ซึ่งบ่งบอกว่าเขาไม่ได้สนใจกับภารกิจอันใหญ่หลวงนี้มากพอ โดยอ้างว่าบรรยากาศในการทำงานท็อกซิก หรือเป็นพิษ ไม่น่ารื่นรมย์นัก
ชัยชนะในยูโร 2004 ของทีมชาติได้พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จเพียงชั่วครั้งชั่วคราวที่ปกปิดเรื่องราวอันน่าโสมมในวงการฟุตบอลแดนเทพนิยาย เพราะนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ฟุตบอลในประเทศก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จำนวนผู้ชมก็ลดลง ซึ่งในลีกสูงสุดมีค่าเฉลี่ยคนดูอยู่ที่ 5,000 คนเท่านั้น
อีกทั้งแฟนบอลหลายคนก็รู้สึกแย่เข้าไปกว่าเดิม กับสิ่งที่พวกเขาได้พบเห็น ทั้งสนามที่คุณภาพแย่ลง หรือเรื่องอื้อฉาวนอกสนามที่ตามมาเรื่อยๆไม่หยุดหย่อน
ฤดูกาล 2003-04 มี 3 สโมสรในประเทศที่ได้ร่วมเล่นใน แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม โดยมี 2 ทีมผ่านเข้าไปเล่นรอบแบ่งกลุ่มอัตโนมัติ และอีกทีมเข้ามาเล่นจากการเพลย์ออฟในรอบ 3 ทว่าปัจจุบันมีเพียงทีมแชมป์ลีกเท่านั้นที่ได้เข้าไปเล่น แถมต้องลุยเพลย์ออฟถึง 2 รอบ กว่าจะเข้ามาเล่นในรอบแบ่งกลุ่มได้
โอลิวิเย่ร์ คาโป อดีตกองกลางของ เบอร์มิ่งแฮม และ วีแกน ซึ่งเคยค้าแจ้งอยู่กับ เลวาเดียกอส ฤดูกาล 2013-14 ได้อธิบายฟุตบอลแดนเทพนิยายว่าไม่ต่างอะไรจากมาเฟีย จากการให้สัมภาษณ์กับ So Foot นิตยสารลูกหนังจากฝรั่งเศส
“ทุกอย่างเต็มไปด้วยการทุจริต เกมถูกซื้อไปด้วยการบริษัทพนันกีฬา เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกที่หรอก แต่ยูฟ่า ก็ไม่ได้สนใจกรีซเช่นกัน บางเกมเล่นไปจนนนาทีที่ 99 ก็มี ประธานสโมสรต้องมีบอดี้การ์ดข้างกายเสมอ คุณคิดว่ามันปกติมั้ยล่ะ?” อดีตแข้งชาวฝรั่งเศส กล่าว
นอกจากนี้ คาโป ยังอ้างด้วยว่าเขาถูกขอให้ล็อกผลการแข่งโดยให้จงใจรับใบแดงในเกม เมื่อปฏิเสธ เขาก็ถูกข่มขู่พร้อมกับครอบครัว นั่นทำให้เขาตัดสินใจยกเลิกสัญญากับสโมสร และย้ายออกจากที่นั่นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ความรุนแรงที่มากขึ้น
แต่อย่างน้อยก็มีการพยายามกวาดล้างเรื่องนี้อยู่บ้างเหมือนกัน
คดีใหญ่ครั้งล่าสุดนี้ถูกเปิดเผยในปี 2015 นำโดยอัยการ อริสติดิส กอร์เรอัส กับรายงานความยาว 173 หน้าของเขาให้รายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมของเหล่าขาใหญ่ในวงการที่ถูกกล่าวหาว่า “ริเริ่ม เข้าร่วม และกำกับดูแลองค์กรอาชญากรรม การฉ้อโกง พยายามกรรโชกทางอาญาและการทุจริต”
กอร์เรอัส ได้ตรวจสอบบุคคลสำคัญและอาวุโสที่สุดหลายคนในฟุตบอลกรีซ โดยใช้การโทรศัพท์ร่วมกับหน่วยข่าวกรองของกรีกเพื่อรวบรวมหลักฐาน เขาเชื่อว่าเขาได้เปิดเผยแผนการสมรู้ร่วมคิดที่พยายามควบคุมผลการแข่งผ่านการกระทำของผู้ตัดสินที่ฉ้อฉลทุจริต
ทว่า 6 ปีต่อมา ในเดือนมกราคมปี 2021 บุคคลสำคัญ 28 คน ซึ่งรวมถึง เอวานเจลอส มารินาคิส ประธานสโมสรโอลิมเปียกอส และ ประธานน็อตทิงแฮม ฟอเรสต์ ผู้ตัดสินหลายคน และสมาชิกหลายคนของสมาคมฟุตบอลแดนเทพนิยาย พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา
ในขณะที่คดีในศาลดำเนินไปในระหว่างนี้ ความรุนแรงจากการแข่วขันก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่ต่างจากเดิม
ฤดูกาล 2014-15 ถูกพักการแข่งไปถึง 3 ครั้ง เมื่อ คอสคาส คาสซูลิส ชายวัย 46 ปี เสียชีวิต หลังเกิดเหตุแฟนบอลปะทะกันในลีกดิวิชั่น 3 ณ เมืองครีท, รองประธานคณะกรรมการตัดสินกลางถูกโจมตี และ กลุ่มแฟนบอลอันธพาลบุกเข้ามาในสนามระหว่างเกมดาร์บี้แมตช์ระหว่างพานาธิไนกอส กับ โอลิมเปียกอส
ในเดือนมีนาคม 2018 อิวาน ซาวิดิส ประธาน พีเอโอเค เข้ามาในสนามพร้อมกับปืน หลังไม่พอใจกับการตัดสินที่ริบประตูชัยในเกมพบ เออีเค เอเธนส์ ทำให้ลีกต้องระงับการแข่งอีกหน ก่อนที่เจ้าสัวยาสูบ เชื้อสายกรีก-รัสเซียน ซึ่งรับราชการเป็นรัฐบาลในฐานะสมาชิกพรรคยูไนเต็ดรัสเซียของ วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ออกมาขอโทษ พร้อมโดนปรับเงินกับตัดแต้มสโมสรในเวลาต่อมา
ในเดือนธันวาคม 2018 ผู้ตัดสิน ธานาสซิส ซีลอส ถูกชายสวมฮู้ด 4 คน โจมตีในเมือง ลาริสซ่า และได้รับบาดเจ็บสาหัสหลังจากที่เขาถูกลากลงจากรถ และถูกทุบตีที่ศีรษะและขาอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ลีกถูกระงับการแข่ง เนื่องจากผู้ตัดสินหลายคนหยุดงานประท้วงจากเหตุการณ์นี้
ก่อนการเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ โควิด-19 ในปี 2020 ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเมื่อ โอลิมเปียกอส กล่าวหาว่าประธาน พีเอโอเค เป็นเจ้าของ ซานธี เอฟซี ด้วย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของหลายสโมสร แม้ ซาวิดิส ปฏิเสธความผิดทุกข้อกล่าวหา แต่ทีมของเขาก็ถูกตัดแต้มอีกครั้ง
เมื่อมีการข่มขู่ว่าจะคว่ำบาตร พีเอโอเค เหล่าแฟนบอลกว่า 8,000 รายก็รวมตัวกันบาท้องถนน พร้อมด้วยป้ายที่มีข้อความว่า “กรีซถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนแล้ว”
แทรกแซงไปก็ไร้ผล
จอร์กอส วาสซิเลียดิส อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกีฬาซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2016 ถึง 2019 มองว่าเหตุกาณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นเผยให้เห็นปัญหาที่น่ากังวลในวงกว้าง
“ในประเทศที่อยู่ในภาวะถดถอยมา 10 ปีแล้ว ซึ่งการว่างงานของเยาวชนถึง 50% มีปฏิกริยาที่รุนแรงมากขึ้น” วาสซิเลียดิส กล่าว
“และสิ่งเหล่านี้แสดงออกในหมู่แฟนบอลฟุตบอล เมื่อมีเงื่อนไขที่เหมาะสม และเหล่านักแสดงทางเศรษฐกิจที่สนใจฟุตบอลก็ใช้เล่ห์อุบายในทางที่ผิดเกี่ยวกับฟุตบอลในฐานะผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ไม่ใช่กีฬา”
“สถานการณ์ของการพยายามแก้ไขฟุตบอลกรีก ติดหล่มมากจนรัฐบาลกำลังพิจารณาต้นทุนทางการเมืองของทุกๆการดำเนินการ ความยุติธรรมใช้ไม่ได้ในประเทศนี้ วิธีแก้ปัญหาสามารถมาจากภายนอกเท่านั้น”
นั่นทำให้ องค์กรที่ดูแลฟุตบอลระดับโลกและยุโรปอย่าง ฟีฟ่า และ ยูฟ่า จึงจำเป็นต้องมาเข้าแทรกแซงในเรื่องนี้
ในปี 2011 รายงานของ ยูฟ่า ให้รายละเอียดผลการแข่งขันในลีก 41 นัดที่พวกเขาเชื่อว่าน่าสงสัยจากฤดูกาล 2009-10 ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล็อคผลการแข่ง ซึ่ง จอร์จอส นิคิเทียดิส เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของรัฐบาลในขณะนั้น อธิบายว่าเป็น “หน้าที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ฟุตบอลกรีก” เขากล่าวว่าจะดำเนินการสอบสวนทางอาญาให้ลึกและสูงเท่าที่จำเป็น
แต่อย่างที่จะเกิดขึ้นอีก 10 ปีต่อมา อัยการรู้สึกผิดหวังกับผลตัดสินสุดท้าย จากผู้ต้องสงสัย 68 รายที่เสนอชื่อโดยหน่วยงานตุลาการ มีเพียงไม่กี่คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด แถมเป็นข้อหาที่ค่อนข้างเล็กน้อย ส่วนเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือเจ้าของสโมสรที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาการฉ้อโกง การกรรโชก หรือการฟอกเงิน ล้วนได้รับการปล่อยตัว
ยูฟ่า ส่งผู้แทนพิเศษไปปฏิบัติภารกิจทำความสะอาดฟุตบอลแดนเทพนิยายในปี 2016 แต่หลังจาก 4 ปีในประเทศ คณะผู้แทนจากไปโดยไม่มีความคืบหน้าที่มองเห็นได้ชัดเจน แม้จะลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างประธานยูฟ่า อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน และคีเรียกอส มิตโซตากิส นายกรัฐมนตรีกรีซก็ตาม
การอัปเดตล่าสุดมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีจดหมายร่วมจากยูฟ่า และฟีฟ่า ที่เรียกร้องให้สมาคมฟุตบอลในประเทศ เร่งจัดการให้แน่ใจว่าการแต่งตั้งตำแหน่งระดับสูงที่สุดจะโปร่งใส
ปีเตอร์ ฟูเซ็ค อดีตนักฟุตบอลที่ปัจจุบันเป็นประธานสมาคมลูกหนังสาธารณรัฐเช็ก เคยเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ ยูฟ่า นำเข้ามาในแดนเทพนิยายเมื่อ 6 ปีก่อนเพื่อให้คำแนะนำในฐานะผู้เชี่ยวชาญอิสระ ก็ออกมาพูดถึงปัญหานี้เช่นกัน
“ในกรีซ มันซับซ้อนเพราะเจ้าของสโมสร เราไม่สามารถทำอะไรได้มาก ทำได้เพียงพยายามสร้างการทำงานร่วมกัน นำพวกเขามารวมกัน และคลายความตึงเครียด เท่านั้น” เขากล่าว
“แต่ปัญหาใหญ่คือการขาดความสามัคคี หากปราศจากความสามัคคี เราก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายบางอย่างได้ หากปราศจากความสามัคคี ทุกคนก็พยายามที่จะยึดอำนาจ”
จอร์จอส แอนโทโนปูลอส ศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยทิสไซด์ และสมาชิกของ องค์กรต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติทั่วโลก กล่าวว่า “ในกรีซ การเป็นประธานสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เป็นผลมาจากความรักหรือการดูแลสโมสรฟุตบอล มันเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ การรวมธุรกิจและอำนาจทางการเมืองและการยกระดับเข้าด้วยกัน”
แลเรื่องนี้ อดีตกรรมการต้นเรื่องอย่าง คอนสแตนตินิอัส ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง พร้อมทิ้งประโยคทิ้งท้ายไว้ชวนคิดอย่างมากว่า
“ฟุตบอลกรีซคือไฮดราที่มีหลายหัว คุณตัดไปหนึ่ง แต่หัวอื่นๆก็จะโผล่ขึ้นมาอยู่ดี”