ไม่ธรรมดา : ฮาลิลฮอดซิซ กุนซือคนแรกผู้พา 4 ชาติลุยบอลโลก

ไม่ธรรมดา : ฮาลิลฮอดซิซ กุนซือคนแรกผู้พา 4 ชาติลุยบอลโลก

วาฮิด ฮาลิลฮอดซิซ อาจไม่ใช่ผู้จัดการทีมที่คว้าแชมป์มากมาย แต่ก็ถูกพูดถึงยามแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก กับการทำผลงานที่ยอดเยี่ยมและต่อเนื่อง แม้ว่าในทัวร์นาเม้นต์รอบสุดท้าย เขาจะได้รับโอกาสคุมทีมเพียงครั้งเดียวก็ตาม 

ปัจจุบัน เขาที่คุมทีมชาติโมร็อกโก พาทีมผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายที่ กาตาร์ ได้สำเร็จ หลังเอาชนะ ดีอาร์ คองโก ในเพลย์ออฟโซนแอฟริกา 2 นัด ด้วยสกอร์รวม 5-2 

นี่ถือเป็นครั้งที่ 6 สำหรับ ‘สิงโตแอตลาส’ ในการผ่านเข้าไปเล่นในรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการลูกหนัง แต่สำหรับ ฮาลิลฮอดซิซ นี่เป็นชาติที่ 4 แล้วที่เขาพาทีมผ่านเข้ามาเล่นในศึกชิงแชมป์โลกรอบสุดท้ายได้ และไม่เคยมีกุนซือคนไหนทำได้แบบนี้มาก่อน

ด้วยเหตุนี้ UFA ARENA จึงขอพาไปพบกับ เรื่องราวของ ฮาลิลฮอดซิซ กุนซือผู้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการลูกหนัง

 

ยอดแข้งยูโกฯที่ถูกมองข้าม

FC Nantes - Lille OSC : les deux clubs de cœur de Vahid Halilhodžić

เดิมที บอสเนีย หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘บอสเนียและเฮอร์เซโกวีน่า’ เคยเป็นส่วนหนึ่งของ ยูโกสลาเวีย ก่อนแยกตัวเป็นอิสระในปี 1992 และในช่วงนั้นเอง ยูโกสลาเวีย ก็ถือเป็นประเทศที่โด่งดังในเรื่องของฟุตบอลเช่นกัน

ทีมที่ถูกขนานนามว่า ‘บราซิลเลี่ยนแห่งยุโรป’ เคยคว้าอันดับ 4 ในฟุตบอลโลกถึง 2 ครั้ง ส่วนในบอลชิงแชมป์ยุโรป ก็คว้ารองแชมป์ 2 ครั้ง และ อันดับ 4 ในปี 1976 จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะสร้างดาวเตะขึ้นมาประดับวงการมากมาย

ตัวของ วาฮิด ฮาลิลฮอดซิซ ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน และถือเป็นดาวเด่นของวงการฟุตบอลของยูโกสลาเวียในยุค 70-80 ด้วย หลังคว้าแชมป์ยูโรรุ่น U-21ในปี 1978 ในฐานะแข้งโควต้าอายุเกิน (26 ปี ณ ตอนนั้น) ทว่ากลับได้ลงเล่นให้ทีมชาติชุดใหญ่ 15 นัด เท่านั้น (ยิง 8 ประตู) 

แต่ในระดับสโมสร เขาถือเป็นตำนานของ เวเลซ โมสตาร์ สโมสรในบอสเนียปัจจุบัน ที่ค้าแข้งนานนับ 10 ปี ตั้งแต่ปี 1971-1981 ก่อนย้ายไปเล่นกับ น็องต์ส สโมสรจากฝรั่งเศส ในปี 1981 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์ลีกเอิง ปี 1983 ร่วมถึงคว้ารางวัลแข้งต่างชาติยอดเยี่ยมของลีก 2 สมัยด้วย ก่อนปิดฉากอาชีพค้าแข้งกับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในฤดูกาล 1986-87 โดยทิ้งผลงาน 211 ประตูจาก 406 นัดในเกมอาชีพ

อย่างไรก็ตาม ความข่มขื่นที่สุดในอาชีพค้าแข้งของ ฮาลิลฮอดซิซ คือการไม่มีส่วนร่วมกับทีมชาติอย่างที่ควรจะเป็นในช่วงยุค 70-80 โดยประชดประชันว่าอาจเป็นเพราะนามสกุลของเขาที่ยาวเกินไปสำหรับสกอร์บอร์ดในเบลเกรด รวมไปถึงมองว่าการที่เขานับถือมุสลิมอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาได้ลงเล่นให้ทีมชาติเพียงน้อยนิด

 

สร้างชื่อกุนซือในฝรั่งเศส

Vahid Halilhodzic: «Lille est une équipe plus cohérente»

ต่อมา ฮาลิลฮอดซิซ ใช้เวลา 6 ปีในการเก็บเกี่ยวความรู้ด้านงานโค้ช ก่อนเข้ามาคุมทีมครั้งแรกกับ โบแวร์ส ในปี 1993 จากนั้นจึงโยกไปคุม ราจา คาซาบลังก้า สโมสรจาก โมร็อกโก ปี 1997 พร้อมสร้างผลงานกระฉ่อนด้วยการคว้าแชมป์ ซีเอเอฟ แชมเปี้ยนส์ลีก และแชมป์ลีก ตั้งแต่ปีแรก ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

จากนั้นกุนซือชาวบอสเนีย ก็กลับมาทำงานในฝรั่งเศสอีกครั้งกับ ลีลล์ ในปี 1998 ซึ่งทีมเลื่อนชั้นขึ้นไปในลีกเอิงในปี 2000 อีกทั้งยังจบอันดับ 3 ตั้งแต่ปีแรกในลีกสูงสุด พร้อมคว้าตั๋วไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร

หลังแยกทางกับ ลีลล์ ในซัมเมอร์ปี 2002 ฮาลิลฮอดซิซ ก็ว่างงานเพียงไม่นาน เมื่อ แรนส์ ที่สุ่มเสี่ยงหนีตกชั้น ดึงตัวเขามากอบกู้สถานการณ์ และก็ทำได้จริงด้วยการจบอันดับที่ 15 จากทั้งหมด 20 ทีม 

นั่นเองทำให้ชื่อของเขาเป็นที่โด่งดังมากขึ้นในยุโรป จนได้รับข้อเสนอคุมทีมจากทั้งใน เยอรมัน และ สเปน ก่อนสุดท้ายจะเลือกคุมทีม ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทีมเก่าสมัยค้าแข้ง ในปี 2003 

แม้ประเดิมปีแรกได้สวยด้วยแชมป์ เฟรนช์ คัพในปี 2004 แต่อดีตกองหน้าทีมชาติยูโกสลาเวีย ก็ทำผลงานคุมทีมแย่ลงในฤดูกาลต่อมา จนถูกปลดกลางคัน และโยกไปคุม แทร็บซอนสปอร์ ในปี 2005 แต่ก็อยู่แค่ปีเดียวก็ลาออก ทั้งๆที่พาทีมจบอันดับ 4 ในลีกตุรกีแท้ๆ

ทว่าหลังจากนั้น ฮาลิลฮอดซิซ ดูเหมือนจะค้นพบงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด นั่นก็คือการคุมทีมชาตินั่นเอง

 

ทีมชาติคืองานเหมาะ

Vahid Halilhodžić : "la Coupe du monde avec l'Algérie fut un succès  phénoménal" – Le Jeune Indépendant

ฮาลิลฮอดซิซ กลายเป็นเฮดโค้ชทีมชาติไอวอรี่โคสต์ในปี 2008 ซึ่งเต็มไปด้วยสตาร์ดังอย่าง ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา กัปตันทีม, ยาย่า กับ โคโล่ ตูเร่, โซโลมอง กาลู, เอ็มมานูเอล เอบูเอ้ หรือดาวรุ่งพุ่งแรง ณ เวลานั้นอย่าง แชร์วินโญ่

แต่กุนซือชาวบอสเนีย ก็คุมทีม ‘ช้างดำ’ ได้อยู่หมัด พร้อมทำผลงานเยี่ยมสุดๆ ด้วยการไม่แพ้ใครเลยในรอบคัดเลือกโซนแอฟริกา เป็นเวลาถึง 2 ปี และผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ แอฟริกาใต้ ในปี 2010 กับ แอฟริกัน คัฟ ออฟ เนชั่นส์ ในปีเดียวกันด้วย

ทว่าเขากลับถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังทำผลงานอย่างน่าผิดหวังในบอลทวีปต้นปี 2010 ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง 4 เดือนก่อนศึกใหญ่เปิดฉากขึ้นในแอฟริกาใต้

กุนซือวัย 69 ปี กลับไปยุโรปรับงานคุมสโมสรอีกครั้งกับ ดินาโม ซาเกร็บ และคว้าแชมป์ลีกโครเอเชียในปีแรกทันที แต่ก็ออกจากทีมในเดือนพฤษภาคมปี 2011 หลังจากมีปัญหาเรื่องเจรจาสัญญาใหม่

ด้วยผลงานที่โดดเด่นสมัยคุมทีมชาติไอวอรี่โคสต์ ทำให้สมาคมฟุตบอลของแอลจีเรีย จะจับตามอง ฮาลิลฮอดซิซ อย่างใกล้ชิด และดึงตัวมาคุมทีมได้สำเร็จในเดือนมิถุนายนปีนั้น

ถึงผลงานใน แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ ในปี 2013 ออกมาน่าผิดหวัง ด้วยการเก็บกระเป๋ากลับบ้านตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม โดยคว้าได้เพียงแต้มเดียวจาก 3 นัด กระนั้นกุนซือชาวบอสเนียก็ยังได้รับความไว้ใจจากสมาคมให้ทำหน้าที่ต่อไป และเขาก็ตอบแทนความเชื่อมั่นนั้นด้วยการพา ‘จิ้งจอกทะเลทราย’ ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ บราซิล ในปี 2014 

นี่ถือเป็นหนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่พวกเขาผ่านเข้าไปเล่นศึกชิงแชมป์โลก และเป็นครั้งที่ทำผลงานได้ดีที่สุด หลังผ่านเข้าไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยพ่ายให้กับ เยอรมัน ว่าที่แชมป์โลกในรายการนั้น ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 1-2

 

ปัญหา ณ แดนปลาดิบ

Halilhodzic gets to work as Japan starts from scratch again | The Japan  Times

ด้วยผลงานระดับนี้ ไม่แปลกที่ แอลจีเรีย จะมอบข้อเสนอขยายสัญญาใหม่ให้หลังจากทัวร์นาเม้นต์นั้น แต่เจ้าตัวก็เลือกลาทีมหลังหมดสัญญาเดิมในเดือนกรกฎาคมปี 2014

หลังห่างหายไปนานเกือบปี ฮาลิลฮอดซิซ ก็หวนคืนสู่งานกุนซืออีกครั้ง โดยหนนี้เป็นทีมชาติญี่ปุ่น ที่แต่งตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2015 แทนที่ ฮาเวียร์ อากีร์เร่ ที่ถูกปลดหลังมีความเกี่ยวข้องกับการล็อกผลการแข่งขันที่สเปนในปี 2011

ทว่าหลังจากนั้น กุนซือชาวบอสเนียถูกสื่อแดนปลาดิบวิพากษ์วิจารณ์ บ่อยครั้งเนื่องจากสไตล์การเล่นของทีมที่เน้นการจ่ายบอล หาช่องเข้าทำ เปลี่ยนมาสไตล์วิ่งสู้ฟัด และการเล่นเกมโต้กลับที่รวดเร็ว รวมไปถึงการดร็อปดาวดังของทีม ณ เวลานั้น อย่าง เคซูเกะ ฮอนดะ, ชินจิ คากาวะ หรือ ชินจิ โอกาซากิ ด้วย

แม้ผลงานในรอบคัดเลือกจะสะดุดบ้าง แต่ยังเอาตัวรอดเป็น 1 ใน 4 ทีมของโซนเอเชียที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายที่รัสเซียได้สำเร็จ 

โดยตลอด 3 ปีที่ ฮาลิลฮอดซิซ คุมทัพ ‘ซามูไรบลู’ มีข่าวลือเรื่องถูกปลดจากตำแหน่งบ่อยๆ จากการพูดจาออกสื่อที่โผงผางตามใจคิด และครั้งหนึ่งเขาเคยพูดจายกย่อง เกาหลีใต้ หลังพาทีมพ่ายยับ 1-4 ในศึก อีสต์ เอเชี่ยน คัพ ปี 2014 โดยที่ไม่รู้ถึงความเป็นอริกันระหว่าง 2 ชาติเลย แม้ ณ เวลานั้นจะส่งผู้เล่นชุดเล็กลงแข่งในรายการนั้นก็ตาม

“ผมรู้สึกทึ่งกับพลัง เทคนิค และการควบคุมเกมของเกาหลีใต้จริงๆ เกาหลีใต้นั้นเหนือกว่าเราในทุกๆด้านเลย” กุนซือชาวบอสเนีย กล่าวหลังเกมนั้น ก่อนถูกสื่อในประเทศวิจารณ์ยกใหญ่

นั่นทำให้เป็นอีกครั้งที่เขาก็ไม่ได้คุมทีมในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ก่อนที่อากิระ นิชิโนะ จะเข้ามาสานงานต่อในรอบสุดท้าย 

 

คนแรกในประวัติศาสตร์

The king bowed to Vahi – Call Halilhodzic for a spot at the World Cup

ฮาลิลฮอดซิซ กลับไปรับงานสโมสรอีกครั้งในปีเดียวกัน และสโมสรที่ว่าก็ไม่ใช่ทีมอื่นไกล เพราะคือ น็องต์ส ที่เขาเคยสร้างชื่อสมัยค้าแข้งนั่นเอง 

แต่ผลงานก็ยังเป็นระดับกลางๆ ถึงเอาชนะทีมใหญ่อย่าง เปแอสเช, ลียง และ มาร์กเซีย ได้ในฤดูกาล 2018-19 ก็ตาม และสุดท้ายก็เลือกลาทีมหลังคุมทีมได้ปีเดียว เนื่องจากมีเรื่องเห็นพ้องไม่ต้องกันกับ วัลเดมาร์ กิต้า ประธานและเจ้าของสโมสร

อย่างไรก็ตาม กุนซือวัย 69 ปี ก็หวนกลับมารับงานที่เขาถนัดมากที่สุดอีกครั้ง กับทีมชาติ โมร็อกโก ในปี 2019 

แม้มีปัญหาอยู่บ้าง เมื่อ ฮาลิลฮอดซิซ เลือกตัดชื่อ ฮาคิม ซิเยค สตาร์ดังของทีมชาติ ออกไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 เนื่องจากมองว่าพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่มารายงานตัวสายและปฏิเสธลงเล่นนัดอุ่นเครื่องโดยอ้างว่าเจ็บ 

แต่ถึงอย่างนั้น ‘สิงโตแอตลาส’ ก็ทำผลงานแข็งแกร่งในรอบคัดเลือกด้วยการเก็บ 18 แต้มเต็มจาก 6 นัด ผ่านเข้าไปลุยรอบเพลย์ออฟแบบไม่มีปัญหา ก่อนถล่ม ดีอาร์ คองโก ด้วยประตูรวม 5-2 ผ่านเข้าไปเล่นศึกชิงแชมป์โลกรอบสุดท้ายได้สำเร็จ

นั่นทำให้ ฮาลิลฮอดซิซ สร้างประวัติศาสตร์เป็นกุนซือคนแรกที่พาทีมไปฟุตบอลโลกได้ถึง 4 ชาติด้วยกัน  

โดยก่อนหน้านี้ โบล่า มิลูติโนวิช เป็นกุนซือที่พาทีมไปฟุตบอลโลกได้ 2 ชาติ คือ ไนจีเรีย (1998), จีน(2002)  ส่วนอีก 3 ชาตินั้น คือ คอสตาริก้า (1990) แต่การที่เขาเข้ามาคุมทีมก่อนทัวร์นาเมนต์ 90 วันและไม่ได้เป็นผู้พาคอสตาริก้าผ่านเข้ารอบสุดท้าย (เป็นผลงานของมาร์วิน โรดริเกวซ) ส่วนปี1986 ที่คุมเม็กซิโก และ 1994 ที่คุมสหรัฐอเมริกา นั่นได้สิทธิ์ลงเล่นรอบสุดท้ายในฐานะเจ้าภาพโดยไม่ต้องคัดเลือก

หากไม่มีเหตุการณ์ขัดแย้งหรือปัญหาอะไรอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ฮาลิลฮอดซิซ คงจะได้คุมโมร็อกโกลุยบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นชาติที่ 2 ในอาชีพกุนซือ ต่อจาก แอลจีเรีย ในปี 2014

และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรช่วงปลายปีนี้ที่ กาตาร์ แต่ชื่อของ ฮาลิลฮอดซิซ จะถูกจารึกไว้ในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการฟุตบอลอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนอย่างแน่นอน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

จอห์น เฮิร์ดแมน : กุนซืออังกฤษผู้พาแคนาดาลุยบอลโลกในรอบ 36 ปี
จอห์น เฮิร์ดแมน : กุนซืออังกฤษผู้พาแคนาดาลุยบอลโลกในรอบ 36 ปี