สตาร์ล้นทีมไม่ช่วยอะไร : เบลเยี่ยมว่าที่ราชันไร้มงกุฎแห่งวงการลูกหนัง

 

หลังคว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลกปี 2018 หลายคนคาดว่า เบลเยี่ยม ในยุคทองจะสามารถประสบความสำเร็จในรายการเมเจอร์ได้เป็นครั้งแรกเสียที

 

ทว่า ยูโร 2020 กลับกลายเป็นอีกหนึ่งทัวร์นาเม้นต์ที่ เบลเยี่ยม ต้องผิดหวังอีกครั้ง หลังโดน อิตาลี เขี่ยตกรอบไปด้วยสกอร์ 2-1 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา

 

นี่ถือเป็นเวลาเกือบทศวรรษที่ ‘ปีศาจแดงแห่งยุโรป’ สร้างนักเตะฝีเท้าดีมากมาย และน่าจะเป็นชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขาด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็ต้องรอคอยแชมป์ระดับทัวร์นาเม้นต์ต่อไป

 

UFA ARENA จึงขอพาไปย้อนถึงช่วงที่ เบลเยี่ยม ปลุกปั้นผู้เล่นมาประดับวงการมากมายจนกลายเป็นทีมเบอร์หนึ่งของโลก แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลวในทัวร์นาเม้นต์สำคัญอยู่ร่ำไป…

 

 

ช่วงเวลาตกต่ำ

 

Was the 2002 World Cup rigged? - Pundit Feed

 

หากย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เบลเยี่ยม เข้าสู่ช่วงตกต่ำมากที่สุดในวงการฟุตบอล เนื่องจากพวกเขาพลาดโอกาสไปเล่นฟุตบอลทัวร์นาเม้นต์รอบสุดท้าย ทั้งระดับทวีปและระดับโลก นานนับ 12 ปี

 

ฟุตบอลโลกปี 2002 ที่ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพ คือรายการใหญ่ครั้งงสุดท้ายที่เขาได้ลงเล่น ซึ่งก็ผลงานได้พอใจระดับหนึ่งกับการทะลุไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย และพ่ายให้ บราซิล ว่าที่แชมป์ในรายการนั้น 2-0

 

นักเตะในทีมช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยผู้เล่นที่มาจากสโมสรในประเทศเป็นส่วนใหญ่ มีไม่กี่คนที่ได้โอกาสไปโชว์ฝีเท้าต่างแดน โดยมี มาร์ค วิลม็อตส์ เป็นดาวเด่นชูโรง แต่นั่นก็เป็นปีสุดท้ายที่เขาเล่นให้ เบลเยี่ยม ก่อนตัดสินใจลาทีมชาติในเวลาต่อมา

 

ปัญหาหลักๆที่ทำให้ เบลเยี่ยม เข้าสู่ช่วงขาลง คือพวกเขาไม่สามารถปลุกปั้นดาวรุ่งขึ้นมาแทนที่นักเตะจอมเก๋าในทีมได้เลย ณ ตอนนั้น อาจมีบางคนที่ฉายแววเด่นอยู่บ้าง เช่น แวงซองต์ กอมปานี หรือ ดาเนี่ยล ฟาน บุยเตน แต่ฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม ยากที่จะฝากภาระแบกทีมไว้กับนักเตะเพียงคนเดียว

 

เมื่อประกอบการลาตำแหน่งกุนซือของ โรแบร์ วาแซร์ ในปี 2002 ก็ไม่มีใครสามารถทำผลงานได้เทียบเท่า หรือดูมีอนาคตเลย จนเกิดการเปลี่ยนนายใหญ่ถึง 5 คนในรอบ 10 ปี 

 

เรเน่ แวนเดอเรคเก้น กับ แฟรงกี้ แฟร์เคาเตเร่น 2 ตำนานทีมชาติชุดคว้ารองแชมป์ยูโร ปี 1980 กับ อันดับ 4 ฟุตบอลโลกปี 1986 ต่างเอาชื่อมาทิ้งในการคุมบ้านเกิด หรือ กุนซือต่างชาติชาวดัตช์อย่าง ดิ๊ก อัคโวคาท ก็ไปไม่รอดเช่นกัน

 

 

ปั้นดาวรุ่งทั้งในและนอกประเทศ

 

Vertonghen & Alderweireld: 'De ultieme verbetenheid om te slagen' | NOS

 

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ล้มเหลว เบลเยี่ยม ก็พยายามปลุกปั้นดาวรุ่งขึ้นมาเช่นกัน ทั้งจากสโมสรในประเทศเอง หรือส่งออกนักเตะไปอยู่กับสโมสรต่างแดนตั้งแต่ชุดเยาวชน

 

ไล่ตั้งแต่ อั๊กเซล วิตเซล จาก สตองดาร์ ลีแอช, โธมัส แวร์มาเล่น, โทบี้ อันเดอร์ไวเรลด์ กับ แยน แฟร์ตองเก้น 3 แนวรับลูกหม้อ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม หรือ เอเด็น อาซาร์ กับ ลีลล์ 

 

ทั้งหมดล้วนได้ประเดิมทีมชาติชุดใหญ่ ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปีเท่านั้น หรือ อาซาร์ ที่ลงเล่นชุดใหญ่ ตั้งแต่อายุได้ 17 ปีเศษๆ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขายังเด็กเกินไป และต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกพอสมควร

 

ทว่าต่อจากนั้นไม่กี่ปี พวกเขาก็สร้างดาวรุ่งมากพรสวรรค์ออกมาอีกชุด ทั้ง โรเมลู ลูกากู กับ อันเดอร์เลชท์, เควิน เดอ บรอยน์ กับ ธิโบต์ กูร์ตัวส์ จาก เกงค์

 

รวมไปถึง รุ่นที่เลยคำว่า ‘ดาวรุ่ง’ ขึ้นไปแล้ว แต่ทำผลงานได้เข้าตาในระดับสโมสร ยกตัวอย่าง เช่น ดรีส์ เมอร์เท่นส์ กับ นาโปลี, ซิมง มินโญเล่ต์ กับ ซันเดอร์แลนด์ หรือ มูซ่า เดมเบเล่ กับ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ก็เข้ามามีส่วนกับทีมเช่นกัน

 

นักเตะเหล่านี้ รวมไปถึงอีกหลายคนที่อาจไม่ได้กล่าวถึง ล้วนกลายเป็นกำลังสำคัญของ เบลเยี่ยม ในอนาคตอันใกล้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคทอง หลัง มาร์ค วิลม็อตส์ ตำนานของตัดสินใจรับงานคุมทีมบ้านเกิดในปี 2012

 

 

จุดเริ่มยุคทอง

 

World Cup 2014 Day 6 Preview : Belgium vs Algeria – Brazil vs Mexico and Russia vs South Korea | Total Football

 

ด้วยชุดผู้เล่นเหล่านั้น วิลม็อตส์ ใช้เวลาเพียง 2 ปีในการสร้างทีม ลองผิดลองถูก จนในที่สุด เบลเยี่ยม ก็สามารถกลับมาเล่นทัวร์นาเม้นต์รอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี กับศึกฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ

 

‘ปีศาจแดงแห่งยุโรป’ ทำผลงานได้น่าพอใจในครั้งนั้น ด้วยการทะลุไปไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยพ่ายให้กับ อาร์เจนติน่า ว่าที่รองแชมป์ไป 1-0 

 

ณ เวลานั้น แข้งเบลเยี่ยม ที่เคยเป็นดาวรุ่งเมื่อหลายปีก่อน กลายเป็นดาวเตะค้าแข้งให้กับสโมสรเบอร์ต้นๆของยุโรปมากมาย ทั้ง อาซาร์ กับ เชลซี, แฟร์มาเล่น กับ อาร์เซน่อล, กอมปานี กับ แมนเชสสเตอร์ ซิตี้ หรือ มารูยาน เฟลไลนี่ จาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 

 

ไม่แปลกที่ความคาดหวังของสมาคมลูกหนังในเบลเยี่ยมจะสูงขึ้นตามมาตรฐานของนักเตะ กับศึกยูโรปี 2016 ที่ฝรั่งเศส แต่สุดท้ายก็ไปไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย เช่นฟุตบอลโลกเมื่อ 2 ปีก่อน

 

ที่แย่ไปกว่านั้น นี่ถือเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังในสายตาแฟนบอลไม่น้อย เนื่องจากในยูโรหนนั้น เบลเยี่ยม ดันพลาดท่าไปพ่ายให้กับ เวลส์ ทีมนอกสายถึง 3-1 และช็อตโดน ฮัล ร็อบสัน คานู กองหน้าไร้สังกัดยิงในตอนนั้น ยังเป็นภาพจำของนักเตะเบลเยี่ยมในวันนั้นไม่รู้ลืม

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้ วิลม็อตส์ ถูกสมาคมปลดพ้นตำแหน่งทันทีหลังจบทัวร์นาเม้นต์ และเลือกใช้บริการ โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ ที่เพิ่งแยกทางกับ เอฟเวอร์ตัน ในปีเดียวกัน

 

 

จุดสูงสุดแต่ไม่ใช่แชมป์

 

France v/s Belgium, FIFA World Cup 2018: 8 things to know about semifinal clash

 

สไตล์การเน้นเกมบุก และต่อบอลที่สวยงามของ มาร์ตี้ ดูเข้ากับ เบลเยี่ยมสุดๆ และนี่เป็นช่วงที่นักเตะหลายคนกำลังอยู่ในช่วงพีกของอาชีพค้าแข้ง ทั้ง อาซาร์, ลูกากู, เดอ บรอยน์, อัลเดอร์ไวเรลด์ หรือ กูร์ตัวส์

 

อีกทั้งยังมีดาวรุ่งที่แจ้งเกิดพร้อมขึ้นมาทดแทนในวันข้างหน้า ทั้ง ยูริ ติเลอมันส์, อัดนาน ยานาไซ, เลอันเดร เดนดองเกอร์ หรือ ยานนิค การ์ราสโก้ 

 

เบลเยี่ยม ในมือ มาร์ตี้ ผ่านเข้าเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2018 ที่รัสเซีย ได้ตามเป้า และที่ยอดเยี่ยมที่สุดคงหนีไม่พ้นฟอร์มในรอบคัดเลือกที่ ชนะ 9 จาก 10 นัด ยิงไป 43 ลูก เสียเพียง 6 ประตู กลายเป็นสถิติที่ดีที่สุดของพวกเขาในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกด้วย

 

เมื่อมาถึงรอบแบ่งกลุ่ม เบลเยี่ยม ก็คว้า 9 คะแนน ไปเล่นรอบน็อคเอ้าท์ได้ตามคาด แม้เกือบตกรอบในเกมดวล ญี่ปุ่น รอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่พวกเขาก็กลับมาโชว์เก่งอีกครั้งในเกมเฉือน บราซิล 2-1 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย 

 

น่าเสียดายที่พ่ายให้กับ ฝรั่งเศส 1-0 ในรอบตัดเชือก แต่อย่างน้อย เบลเยี่ยม ก็ปิดทัวร์นาเม้นต์แบบสวยๆ ด้วยการเอาชนะ อังกฤษ คว้าอันดับ 3 ในเวิลด์คัพฉบับหมีขาวมาครอง ซึ่งถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลกของทีมชาติด้วย

 

และในปีนั้นเองที่ ปีศาจแดงแห่งยุโรป ผงาดขึ้นไปรั้งอันดับ 1 จากการจัดอันดับของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ในเดือนกันยายน และครองตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน 

 

แต่ถึงอย่างนั้น อันดับ 1 ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวการันตีว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จคว้าแชมป์มาครองได้อย่างที่ถูกยกย่องหรือคาดหวัง

 

 

ว่าที่ราชันไร้มงกุฏ

 

Euro 2020 - Quarter Final - Belgium v Italy

 

นับตั้งแต่ ฟีฟ่า ทำการจัดอันดับทีมชาติเป็นครั้งแรกในปี 1994 มีเพียง 8 ทีมบนโลกที่เคยขึ้นไปรั้งเบอร์หนึ่งของโลก ซึ่งประกอบไปด้วย เยอรมัน, บราซิล อิตาลี, ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า, สเปน, เนเธอร์แลนด์ และ เบลเยี่ยม เป็นทีมล่าสุด

 

ทว่าหากย้อนไปดูจริงๆจะพบว่า ‘ปีศาจแดงแห่งยุโรป’ แตกต่างจากพวกมากที่สุด เนื่องจากพวกเขาไม่เคยคว้าแชมป์รายการเมเจอร์ใดๆ ได้เลย ไม่ว่าจะทั้งก่อนหรือหลังรั้งตำแหน่งเบอร์หนึ่งของโลก

 

จริงอยู่ที่ เนเธอร์แลนด์ อาจเข้าข่ายจำพวกเดียวกับ เบลเยี่ยม แต่เมื่อย้อนกลับไปก่อนมีการจัดอันดับโลกจาก ฟีฟ่า เหล่า ‘อัศวินสีส้ม’ ก็เคยก้าวขึ้นชูถ้วยยูโรมาแล้วในปี 1988 และเข้าชิงฟุตบอลโลกมาแล้ว 3 ครั้ง

 

จากผลงานในศึกยูโร 2020 ที่เลื่อนหนีโควิดมาจัดในซัมเมอร์ปี 2021 ก็เป็นอีกรายการที่ พวกเขาไปไม่ถึงดวงดาว เมื่อโดน อิตาลี ของ โรแบร์โต้ มันชินี่ เขี่ยตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายด้วยสกอร์ 2-1 

 

นั่นหมายความว่า เบลเยี่ยม ก็เป็นทีมเดียวที่รั้งอันดับ 1 ของ ฟีฟ่า แต่ที่ยังไม่เคยคว้าแชมป์มาครองได้เลย และกลายเป็นรอยด่างพร้อยของดาวเด่นในทีมชุดนี้เช่นกัน ที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จกับทีมบ้านเกิดได้ ทั้งที่หลายคนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแท้ๆ

 

สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่า พวกเขาเป็นทีมที่อุดมไปด้วยดาวเตะฝีเท้าเยี่ยมมากมายก็จริง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ไม่ต่างราชันที่ครองบัลลังก์แบบไม่มีมงกุฏประดับให้สมกับฐานะที่ถูกยกย่องเชิดชู 

 

แถมยังต้องลุ้นกันอีกว่านักเตะรุ่นต่อไปจะสามารถก้าวขึ้นมาแทนรุ่นพี่ที่กำลังเข้าสู่ช่วงปลายอาชีพค้าแข้งได้หรือไม่ในอนาคต

 

บางทียุคทองของ เบลเยี่ยม อาจไม่ได้หมายถึงความสำเร็จอย่างที่ชาติอื่นเคยทำ แต่เป็นเพียงช่วงเวลาที่พวกเขาสร้างนักเตะชื่อดังมากมายมาประดับวงการเพื่อให้แฟนบอลได้จดจำแค่เท่านั้น  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ เบลเยี่ยม

ยูโร 2020 : ให้เครดิตคนอื่นด้วย! คิเอลลินี่ชี้เบลเยี่ยมไม่ได้มีแค่ลูกากู