ผู้จัดการทีมที่ลาตำแหน่งกลางฤดูกาล ไม่ว่าจะถูกปลดหรือยื่นซองขาวเอง บ่อยครั้งที่นั่นกลายเป็นโอกาสสำหรับสต๊าฟมือขวาบางคนในการโชว์ฝีมือคุมทีมในฐานะกุนซือรักษาการ และบางคนก็คนทำแบบนี้บ่อยครั้งราวกับเรื่องปกติ
ผู้จัดการทีมขัดตาทัพ เป็นบทบาทที่ดูแปลกประหลาดไม่น้อย เพราะในขณะที่บางคนพยายามทำผลงานให้ประทับใจเพื่อโอกาสในการได้สัญญาคุมทีมถาวร แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่ต้องการกลับไปทำงานเบื้องหลังเหมือนเคย เมื่อสโมสรมีการแต่งตั้งกุนซือคนใหม่
ด้วยเหตุนี้ UFA ARENA จึงขอพาทุกคนไปพบกับ 8 กุนซือในอังกฤษที่ทำหน้าที่รักษาการราวเป็นงานประจำ หรือเป็นบทบาทที่พวกเขาดูถนัดคุ้นเคยผ่านบทความชิ้นนี้
เควิน แม็คโดนัลด์
เควิน แม็คโดนัลด์ เป็นอดีตกองกลางชาวสกอตที่เคยค้าแข้งกับ เลสเตอร์ รวมไปถึง ลิเวอร์พูล ในยุคปลาย 80 ที่ครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอลอังกฤษ แม้ไม่ใช่ตัวหลักในทีมก็ตาม แต่หากพูดถึงประสบการณ์ในการทำงานกุนซือชั่วคราว เขาไม่เป็นสองรองใครแน่นอน
แอสตัน วิลล่า คือทีมที่เขาทำหน้าที่เป็นกุนซือขัดตาทัพถึง 3 หนในช่วงเวลา 8 ปี โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2010 โดยเข้ามาทำแทนที่ มาร์ติน โอนีล ที่ลาออกไป แต่ด้วยผลงานพาทีมพ่าย นิวคาสเซิ่ล 6-0 ในเกมแรก ก็ไม่แปลกใจที่ ‘สิงห์ผงาด’ จะเลือกดึง เชลาร์ อุลลิเย่ร์ เข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ แม้เจ้าตัวแสดงความต้องการชัดเจนว่าอยากคุมทีมเต็มตัวก็ตาม
แม็คโดนัลด์ ได้ทำหน้าที่กุนซือชั่วคราวให้ วิลล่า อีก 2 ครั้งในปี 2015 และ 2018 อีกทั้งก่อนหน้านี้เขาก็เคยเป็นกุนซือชั่วคราวให้กับ เลสเตอร์ เป็นเวลาสั้นๆ 3 สัปดาห์ในปี 1994 ด้วย
โทนี่ ปาร์คส์
โทนี่ ปาร์คส์ น่าจะเป็นกุนซือรักษาการเบอร์ต้นๆในวงการก็ว่าได้ โดยเขาใช้เวลา 12 ปีในฐานะนักเตะอาชีพกับ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ก่อนแขวนสตั๊ดและทำหน้าที่เป็นหนึ่งในทีมสต๊าฟโค้ชของสโฒสร
ตลอดช่วงเวลา 20 ปีในถิ่น อีวู้ด ปาร์ค อดีตกองกลางวัย 73 ปี ทำหน้าที่กุนซือชั่วคราวให้กับ ‘กุหลาบไฟ’ มากถึง 6 ครั้ง โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคมปี 1986 จากนั้นก็ได้ทำหน้าที่นี้ซ้ำๆในปี 1991, 1996, 1998, 1999 และครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายนปี 2004
หลังจากการแต่งตั้ง มาร์ค ฮิวจ์ส เป็นกุนซือ ปาร์ค ก็ยุติบทบาทการเป็นกุนซือชั่วคราวของ แบล็คเบิร์น ไปโดยปริยาย หลังถูกสโมสรปลดอย่างไม่สมควรในตอนนั้น แต่การทำหน้าที่ดังกล่าวก็ยังสิ้นสุดลงหรอก
อดีตแข้งชาวอังกฤษ ย้ายมา แบล็คพูล เพื่อเป็นผู้ช่วยให้ ไซมอน เกรย์สัน ก่อนเข้ารับตำแหน่งรักษาการแทนที่ในปี 2008 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 7 ของเขา หลัง เกรย์สัน ย้ายไปคุม ลีดส์ ยูไนเต็ด
นีล เร้ดเฟิร์น
เกรย์สัน ได้มาคุม ลีดส์ ในปี 2008 แต่ก็ถูกปลดในปี 2012 ทำให้ นีล เร้ดเฟิร์น ผู้เป็นผู้ช่วยเข้ามาทำหน้าที่แก้ขัดไปก่อน 4 นัด จนกระทั่งทีมได้แต่งตั้ง นีล วอร์น็อค เข้ามาหลังจากนั้น
นั่นถือเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ เร้ดเฟิร์น ทำหน้าที่กุนซือรักษาการ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยทำหน้าที่ดังกล่าวกับ ฮาลิแฟกซ์ ทาวน์ และ ยอร์ก ซิตี้ มาแล้ว
หลัง วอร์น็อค ลาทีมไปในปี 2013 อดีตแข้งวัย 57 ปี ก็ได้ทำงานที่คุ้นเคยอีกครั้ง และในปี 2014 ก็ได้เป็นกุนซือชั่วคราวหนที่ 3 ในถิ่น เอลแลนด์ โร้ด หลังทีมปลด เดฟ ฮอคคาเดย์ พ้นตำแหน่ง และถึงแม้ผลงานในการคุมทีมจะถูกอกถูกใจแฟน ‘ยูงทอง’ แต่สุดท้ายก็เสียตำแหน่งนายใหญ่ถาวรให้กับ ดาร์โก มิลานิช
อย่างไรก็ตาม การอดทนของ เร้ดเฟิร์น ก็บังเกิดผล เมื่อ มิลานิช โดนปลดทั้งๆที่คุมทีมได้เพียง 32 วัน ทำให้เขาได้คุม ลีดส์ แบบเต็มตัวเป็นหนแรก แต่ก็คุมทีมได้แค่ฤดูกาลเดียวเท่านั้น ก่อนลาทีมไปหลังการแต่งตั้ง อูเว่ รอสเลอร์ เป็นกุนซือใหม่ในซัมเมอร์ปี 2015
จอห์น คาร์เวอร์
“ผมคือโค้ชที่ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก” นี่คือประโยคที่ จอห์น คาร์เวอร์ เคยลั่นวาจาไว้ในปี 2015 แม้ว่าเขาจะพา นิวคาสเซิ่ล เก็บแต้มเพียง 9 จาก 48 คะแนนทั้งหมด ในช่วงที่ทำหน้าที่กุนซือรักษาการก็ตาม แถมยังบอกให้ ไมค์ วิลเลี่ยมสัน จงใจโดนใบแดงด้วย
ชัยชนะเหนือ เวสต์แฮม ในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาล ทำให้ สาลิกาดง รอดตกชั้น แต่นั่นก็เป็นการยุติบทบาทนายใหญ่ชั่วคราวของ คาร์เวอร์ ในถิ่น เซนต์ เจมส์ ปาร์ค เป็นครั้งที่ 2 เช่นกัน หลังเคยทำหน้าที่นี้มาแล้วในปี 2004 ซึ่งคุมทีมแค่เกมเดียวนัดชนะ แบล็คเบิร์น 3-0
นอกจากนี้ เขายังเคยทำหน้าที่ดังกล่าวกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด มาแล้วในปี 2006 ซึ่งเริ่มต้นได้สวยงามกับการเฉือนชนะ เบอร์มิ่งแฮม 3-2 ก่อนโดน ลูตัน ทาวน์ อัดจนหมดสภาพ แพ้ด้วยสกอร์ 5-1 ซึ่งท้ายที่สุด ทีม ‘ยูงทอง’ ก็ตกชั้นจาก แชมเปี้ยนส์ชิพ ในฤดูกาลนั้นด้วย
รวมไปถึงผลงานตอนคุม เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด แบบชั่วคราวก็มีสภาพไม่ต่างกัน หลังพาทีมพ่ายไป 2 จาก 3 นัด เมื่อฤดูกาล 2010-11 พร้อมตกชั้นไปเล่น ลีกวัน ในตอนท้ายด้วย
อลัน เคอร์ติส
เช่นเดียวกับ ปาร์คส์ ที่ แบล็คเบิร์น อลัน เคอร์ติส ใช้ชีวิตกับ สวอนซี ซิตี้ มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยค้าแข้งอาชีพ ที่เล่นให้ทีมนี้ร่วม 10 ปีในช่วง 3 คำรบในสโมสร และหลังแขวนสตั๊ดก็เข้ามาทำหน้าที่มากมายในทีม ‘หงส์ขาว’ ทั้งเจ้าหน้าที่ของสโมสร, โค้ชเยาวชน, โค้ชทีมชุดใหญ่, ผู้ช่วยผู้จัดการทีม, โฆษกในวันแข่งขัน และหัวหน้าทีมพัฒนาเยาวชน
และแน่นอนว่าตำแหน่งกุนซือขัดตาทัพก็อยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน โดน เคอร์ติส ทำหน้าที่นี้ครั้งแรกในปี 2004 ก่อนได้ทำหน้าที่อีก 2 ปีติดต่อกันในฤดูกาล 2015-16 และ 2016-17
หลังก้าวลงจากตำแหน่งในทีมชุดใหญ่ เคอร์ติส ก็กลายเป็นผู้จัดการของนักเตะยืมตัวในต้นปี 2017 ให้สโมสร ซึ่งคอยสอดส่องดูพัฒนาการของผู้เล่นที่ถูกปล่อยให้ทีมยืมไปใช้งาน ก่อนกลับมาเป็นผู้ช่วยของ แกรแฮม พอตเตอร์ ในปี 2018 และ ณ เวลานี้ เขาทำหน้าที่เป็น ประธานกิตติมศักดิ์ ของ สวอนซี ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน
เดวิด แพลต
ตลอดเวลา 26 ปี ในอาชีพผู้จัดการทีม เดวิด แพลต เคยคุมทีมดังในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์, เลสเตอร์ และ เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ แต่เขากลับปิดฉากเส้นทางนี้ด้วยการเป็นกุนซือขัดตาทัพของ สเปอร์ส ถึง 3 หน
อดีตแข้งวัย 77 ปี ได้โอกาสคุม ‘ไก่เดือยทอง’ หนแรกในระหว่างปี 1986–1987 แต่หากนับในฐานะกุนซือชั่วคราวแล้ว เขาเริ่มต้นกับทีมในปี 1998 จากนั้นก็ได้คุมทีมอีกในปี 2001 และรับงานนี้เป็นครั้งสุดท้ายในฤดูกาล 2003-04 หลังสโมสรปลด เกล็น ฮ็อดเดิ้ล พ้นตำแหน่ง
คีธ มิลเล่น
คงไม่มีโค้ชคนไหนที่มีเหมาะสมกับการเป็นผู้จัดการทีมขัดตาทัพในวงการลูกหนังแดนผู้ดีมากไปกว่า คีธ มิลเล่น อีกแล้วล่ะ
ตำนานแนวรับ เบรนท์ฟอร์ด เริ่มต้นงานโค้ชกับ บริสตอล ซิตี้ จากนั้นก็คุมทีมแบบชั่วคราวถึง 2 ครั้งในปี 2005 และ 2010 ขณะที่อยู่กับ คริสตัล พาเลซ เขาทำหน้าที่นี้ถึง 3 ครั้ง ช่วงระหว่างปี 2013-2015 ปิดท้ายด้วยการรักษาการคุมมิลตัน คินส์ ดอนส์ อีก 1 ครั้งในปี 2018
สจ๊วร์ต เกรย์
ถึงลงเล่นอาชีพให้กับ บาร์นสลี่ย์ และ แอสตัน วิลล่า ร่วม 100 นัด แต่ถึงอย่างนั้น สจ๊วร์ต เกรย์ ก็ไม่ใช่นักเตะที่โด่งดังหรือฝีเท้าโดดเด่นกว่าใครนัก เพียงในฐานะกุนซือขัดตาทัพแล้ว เขาจัดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเลยก็ว่าได้
อดีตกองกลางวัย 62 ปี ทำหน้าที่ดังกล่าวถึง 6 ครั้งกับ 6 สโมสรที่ต่างกัน ทั้ง แอสตัน วิลล่า ทีมเก่า, วูล์ฟแฮมป์ตัน, เบิร์นลี่ย์, พอร์ทสมัธ, เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ และ ฟูแล่ม อีกทั้งยังเคยเป็นผู้ช่วยให้กับ คิท ไซม่อนส์ ในช่วงที่เป็นกุนซือชั่วคราวของ คริสตัล พาเลซ ด้วย