วิวัฒนาการฟุตซอลไทย! ย้อนรอย 21 ปี โต๊ะเล็กช้างศึกบนเวทีโลก

ฟุตซอล

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับเส้นทางของทีมชาติไทย ในศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 ซึ่งถูกหยุดไว้แค้เพียงรอบ 16 ทีมสุดท้าย เท่านั้น หลังลูกทีม “โค้ชหมี” รักษ์พล สายเนตรงาม ต้านทานความแข็งแกร่งของ คาซัคสถาน ไม่ไหว ก่อนแพ้ไปแบบขาดลอย 7-0

อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของวงการโต๊ะเล็กไทย ในเวทีระดับโลก และเป็นความสำเร็จที่ต่อเนื่องมาตลอด 21 ปี นับตั้งแต่สามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตซอลโลก รอบสุดท้าย ครั้งแรกเมื่อปี 2000 ซึ่งนั่นถือเป็นตัวจุดประกายให้วงการฟุตซอลไทย พัฒนาอย่างก้าวกระโดดตลอดหลายปีหลังจากนั้น มาจนถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น UFAARENA จะขอพาไปย้อนดูกันว่า นับตั้งแต่ “โต๊ะเล็กช้างศึก”สามารถผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2000 วงการฟุตซอลมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ได้รับความนิยมและสร้างชื่อบนเวทีระดับโลกแบบทุกวันนี้

 

ลุยฟุตซอลโลกสมัยแรก

ช่วงต้นยุค 2000 วงการฟุตซอลเมืองไทย เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น หลังมีการจัดการแข่งขันระดับสโมสรอย่างรายการ STAR IN DOOR SOCCER ตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งเดิมทีถูกเรียกว่าฟุตบอล 5 คน กระทั่งปี 1999 ทัพ “โต๊ะเล็กช้างศึก” ได้ลงเตะศึกฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย ครั้งแรก เมื่อปี 1999 ที่ประเทศมาเลเซีย ก่อนหนึ่งปีหลังจากนั้นประเทศไทย ได้รับสิทธิ์จัดการแข่งขันรายการดังกล่าวในปี 2000

ต้องยอมรับว่าเวลานั้น หากจะมองหานักฟุตซอลฝีเท้าดีในบ้านเราคงเป็นเรื่องที่พอสมควร นั่นทำให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตัดสินใจส่งนักฟุตบอลสนามใหญ่ลงเล่นในศึกฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2000 นำโดยสุดยอดกองกลางระดับตำนานอย่าง เทิดศักดิ์ ใจมั่น ภายใต้การทำทีมของกุนซือ บงการ พรหมผุย ซึ่งทีมชาติไทย ทำผลงานยอดเยี่ยมสุดๆ ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนเอาชนะ ญี่ปุ่น ในเกมนัดชิงอันดับ 3 พร้อมกับคว้าตั๋วลงเตะฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ร่วมกับแชมป์และรองแชมป์เอเชีย อย่าง อิหร่าน และ คาซัคสถาน นอกจากนั้น เทิดศักดิ์ ยังคว้าตำแหน่งดาวซัลโวในรายการชิงแชมป์เอเชีย ครั้งนั้น ด้วยการยิงไปทั้งหมด 11 ประตู

ส่วนการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ปี 2000 ที่ประเทศกัวเตมาลา ทีมชาติไทย ซึ่งผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรก นำทัพโดยกุนซือต่างชาติรายแรกชาวบราซิล อย่าง ซิลวิลโญ่ พร้อมแข้งโต๊ะเล็กระดับแถวหน้าของประเทศ ณ เวลานั้น ประกอบไปด้วย วิลาศ น้อมเจริญ, พิเชษฐ์ เพียรซ้าย, พัทยา เปี่ยมคุ้ม, ไตรรงค์ ผู้ดี, ภานุวัฒน์ จันทา, เฉลิมพล พรหมศรีโรน์, อนุชา มั่นเจริญ, ยุทธนา พลศักดิ์, คำรณ สำราญพันธ์, อภิสิทธิ์ ไข่แก้ว, มนตรี แพร่พันธ์, บัญชา นุชนาถ, สมพงษ์ พึ่งผูก และ ณรงค์ศักดิ์ คงแก้ว

ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ ทำให้ทีมชาติไทย ยากที่จะต่อกรกับคู่แข่งร่วมกลุ่มอย่าง เนเธอร์แลนด์, อุรุกวัย และ อียิปต์ ก่อนตกรอบแรกด้วยการแพ้ 3 นัดรวด เสียถึง 17 ประตู ยิง 2 ประตู โดยลูกจุดโทษของ พัทยา เปี่ยมคุ้ม ที่ยิงใส่ อุรุกวัย ในเกมนัดประเดิมสนาม ถูกบันทึกว่านั่นคือสกอร์แรกอย่างเป็นทางการของ “โต๊ะเล็กช้างศึก” ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก รอบสุดท้าย

 

เจ้าภาพฟุตซอลโลก 2012

ภายหลังทำผลงานดีต่อเนื่องในศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย และผ่านเข้าไปเล่นศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก สมัยสองติดต่อกันเมื่อปี 2004 ที่ประเทศไต้หวัน กระทั่งปี 2006 วงการโต๊ะเล็กเมืองไทย เริ่มมีความเป็นอาชีพมากขึ้น หลังสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตัดสินใจจัดการแข่งขันลีกอาชีพ ฟุตซอล ไทยแลนด์ ลีก ครั้งแรกในปี 2006

จุดเริ่มต้นของลีกอาชีพส่งผลให้วงการฟุตซอลไทย เฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลานั้น พร้อมกับผลงานระดับทีมชาติที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าตำแหน่งรองแชมป์รายการชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2008 หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี ไทย ได้รับโอกาสครั้งสำคัญ เป็นเจ้าภาพศึกฟุตบอลชิงแชมป์โลก รอบสุดท้าย ปี 2012 เรียกได้ว่านี่อาจเป็นยุคทองของวงการโต๊ะเล็กบ้านเราเลยทีเดียว

สำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนคาดหวังให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ อย่างการสร้างฟุตซอล สเตเดี้ยม แห่งใหม่ บางกอก อารีน่า เพื่อรองรับการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว โดยมีความจุถึง 12,000 คน ทว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2011 ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด และไม่สามารถใช้สนามดังกล่าวทำการแข่งขันได้ โดยสนามที่ใช้ในการเป็นเจ้าภาพฟุตซอลโลก ในปี 2012 คือ อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก, อาคาร นิมิตบุตร และ โคราช ชาติชาย ฮอลล์

ส่วนผลงานของ “โต๊ะเล็กช้างศึก” ในฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 รอบแรกอยู่กลุ่มเดียวกับ ยูเครน, ปารากวัย และ คอสตาริกา ซึ่งลูกทีมกุนซือชาวเนเธอร์แลนด์ อย่าง วิคเตอร์ เฮอร์มันส์ โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยม ผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการจบตำแหน่งอันดับ 3 ที่ดีที่สุด หลังลงเล่น 3 นัด ชนะ 1 แพ้ 2 มี 3 คะแนน ชัยชนะเกมเดียวรอบแบ่งกลุ่มคือการปราบทีมแกร่งอย่าง คอสตาริกา ด้วยสกอร์ 3-1

ก่อนที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ทีมชาติไทย ต้องโคจรมาพบกับ สเปน แชมป์โลก 2 สมัย และแชมป์ยูโร ปี 2012 ซึ่งทีมของ เฮอร์มันส์ ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของทัพ “กระทิงดุ” ก่อนแพ้ไปแบบขาดลอย 7-1 อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นผลงานยอดเยี่ยมสุดของไทย สำหรับการแข่งขันฟุตซอลโลก รอบสุดท้าย และหนึ่งนักเตะที่ทำผลงานโดดเด่นพร้อมกับแจ้งเกิดบนเวทีระดับโลก แบบเต็มตัวจากรายการดังกล่าว คงหนีไม่พ้น ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง ที่ยิงไปถึง 3 ประตู

 

พัฒนาการลีกในประเทศ

ภายหลังจุดเริ่มต้นของศึก ฟุตซอล ไทยแลนด์ ลีก เมื่อปี 2006 หลังจากนั้นมีหลายสโมสรถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อลงแข่งขันรายการดังกล่าว พร้อมกับมีการลงทุนเม็ดเงินเพื่อใช้พัฒนาทีมอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นรูปแบบอาชีพเต็มตัวอย่างทุกวันนี้

ยุคแรกของวงการฟุตซอลลีกเมืองไทย เริ่มต้นด้วยการมี 12 สโมสร เข้าร่วมการแข่ง นำโดย ชลบุรี บลูเวฟ, การท่าเรือ, ไอ แอม สปอร์ต รวมถึง กรุงเทพมหานคร และยังควงใช้รูปแบบตระเวนทำการแข่งขันกันที่สนามกลาง ไม่ว่าจะเป็น แฟชันไอส์แลนด์, เดอะมอลล์ บางแค, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน หรือ ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ซึ่งทีมแรกที่คว้าแชมป์คือขุนพล “ฉลามชลโต๊ะเล็ก” ในซีซั่น 2006

กระทั่งผ่านมาถึงปี 2016 ฟุตบอลซอลลีกเมืองไทย เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น หลังรูปแบบการแข่งขันมีความเป็นอาชีพมากกว่าเมื่ออดีตที่ผ่านมา หลายสโมสรเริ่มมีสนามเป็นของตัวเอง มีการดึงผู้เล่นต่างชาติฝีเท้าคุณภาพสูงเข้ามาเสริมทัพ สำคัญที่สุดคือมีการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้กับทีวีดิจิตอลอย่าง ไทยรัฐ ทีวี ในซีซั่น 2016-2020 นี่ถือเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ ฟุตซอล ไทยแลนด์ ลีก พัฒนาแบบก้าวกระโดดตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนในฤดูกาลล่าสุด 2014 ฟุตซอล ไทยแลนด์ ลีก มีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 14 ทีม แชมป์จะสิทธิ์ลงเตะศึกฟุตซอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย ส่วนรองแชมป์ได้สิทธิ์ลงเตะฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรอาเซียน ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีแค่เพียงสองสโมสรที่คว้าแชมป์สำเร็จ นั่นคือ ชลบุรี บลูเวฟ 10 สมัย และ การท่าเรือ 3 สมัย

 

คู่แข่ง

ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เพียงทีมชาติไทย เท่านั้น ที่สามารถพัฒนาศักยภาพทีมจนเป็นขาประจำทัวร์นาเมนต์ระดับฟุตซอลชิงแชมป์โลก ด้วยการผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย 6 สมัยติดต่อกัน นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2000 ที่ประเทศกัวเตมาลา ทว่าบรรดาชาติคู่แข่งในเอเชีย อย่าง อิหร่าน และ ญี่ปุ่น รวมถึงเพื่อนบ้านคู่ปรับตลอดกาล เวียดนาม ก็พัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นกัน

หากมองหาศัตรูที่เป็นคู่ปรับกับทีมชาติไทย มาตลอด คงหนีไม่พ้น ญี่ปุ่น กระดูกชิ้นโตซึ่งเคยขวางทางการก้าวไปสู่ความสำเร็จคว้าแชมป์ฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2012 มาแล้ว ขุนพล “ซามูไรบลู” เป็นอีกทีมที่พัฒนาความแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลังพวกเขาคว่ำสองชาติมหาอำนาจโต๊ะเล็กของทวีป อย่าง อิหร่าน และ อุซเบกิสถาน คว้าแชมป์เอเชีย สมัยแรกมาครองเมื่อปี 2006 ก่อนตามมาอีก 2 สมัย ในปี 2012 และ 2014 นอกจากนั้นฟุตซอลลีกแดนปลาดิบ ยังมีความเป็นมืออาชีพระดับสูงไม่ต่างจากใน ยุโรป หรือ อเมริกาใต้ ซึ่งนั่นทำให้มันกลายเป็นจุดมุ่งหมายของนักฟุตซอลไทย จำนวนไม่น้อย

ส่วน อิหร่าน พวกเขาคือเบอร์หนึ่งตลอดกาลของเอเชีย คว้าแชมป์เอเชีย ไปแล้ว 12 สมัย ทว่าในรายการชิงแชมป์โลก ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่คอยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ก่อนที่จะสามารถคว้าอันดับ 3 ในปี 2016 ที่ประเทศโคลัมเบีย เป็นเจ้าภาพ และเคยขึ้นไปแตะอันดับ 1 ฟีฟ่าแรงกิ้งมาแล้ว เมื่อเดือนกันยายน ปี 2020

ท้ายสุดคือ เวียดนาม หลายปีก่อนหน้านี้พวกเขาถือเป็นรองทีมชาติไทย อยู่พอสมควร ทว่านับตั้งแต่สร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ทัพ “ดาวทอง” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งคู่ปรับสำคัญของ “โต๊ะเล็กช้างศึก” แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนผลงานดีสุดของ เวียดนาม คือการคว้าอันดับ 4 ในรายการชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2016

 

อนาคตโค้ชทีมชาติไทย

แม้จะต้องตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 ด้วยการแพ้ คาซัคสถาน แบบขาดลอย 7-0 ทว่าผลงานโดยรวมของกุนซือชาวไทย อย่าง “โค้ชหมี” รักษ์พล สายเนตรงาม ถือว่าน่าพอใจไม่น้อย

อดีตเฮดโค้ช ชลบุรี บลูเวฟ คือเทรนเนอร์ชาวไทย คนแรกที่มีโอกาสพาทัพ “โต๊ะเล็กช้างศึก” ลุยศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก หลังก่อนหน้านี้ที่เข้ามาเล่นรอบสุดท้าย 5 สมัย เป็นการคุมทีมของกุนซือชาวต่างชาติทั้งหมด แม้จะออกสตาร์ทด้วยการแพ้ทีมแกร่งอย่าง โปรตุเกส 4-1 ทว่าท้ายที่สุด รักษ์พล สามารถพลิกสถานการณ์พาทีมผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ได้สำเร็จ

ยังไม่แน่ชัดว่าอนาคตของ “โค้ชหมี” จะเป็นอย่างไรต่อไป หลังไม่สามารถพาทีมชาติไทย สร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ฟุตซอลโลก ได้สำเร็จ แต่เชื่อว่าหลายคนคงอยากเห็นกุนซือรายนี้ทำทีมต่อไป แต่ก็เป็นไปได้ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราอาจได้เห็นเฮดโค้ชชาวต่างชาติกลับเข้ามารับงานอีกครั้งเช่นกัน เพราะนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ทีมชาติไทย ใช้เทรนเนอร์ชาวต่างชาติมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น ปูลปิส, วิคเตอร์ เฮอร์มันส์ รวมถึง มิเกล โรดริโก้