เอล กลาซิโก้ ถือเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ดุเดือด เข้มข้นมากที่สุดในวงการลูกหนัง และมีแฟนบอลทั่วโลกให้ความสนใจมากเป็นอันดับต้นๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ทั้ง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ต่างอุดมไปด้วยแข้งเบอร์ต้นๆของโลกที่คอยดวลฝีเท้าบนฟลอร์หญ้า, เต็มไปด้วยกลยุทธ์ในการทำประตู แทคติกในเกมรับที่แพรวพราว หรือ เหตุการณ์สุดดราม่าที่ช่วยให้แฟนบอลต้องเก็บไปพูด แม้เกมจะจบไปแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี แต่ก็ไม่น้อยเช่นกันที่ความสนุกสนานหรือบรรยากาศเข้มข้นในเกมบางนัดกลับไม่แสดงออกมาให้เห็นเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับชื่อเสียงที่ทั้ง 2 ทีมสั่งสมกันมา และจบลงด้วยผลลัพธ์ชวนกร่อยไม่สมกับที่ใครหลายคนรอคอย
ด้วยเหตุนี้ UFA ARENA จะพาไปพบกับ 5 เกมที่กร่อยและน่าเบื่อที่สุดในประวัติศาสตร์ของศึกเอล กลาซิโก้ ในศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
บาร์เซโลน่า 5-1 เรอัล มาดริด | 28 ตุลาคม 2018
ชัยชนะที่ท่วมท้นศึกเอล กลาซิโก้ ครั้งที่ 177 ในเกมลีก ไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อสำหรับสาวก ‘อาซูลกราน่า’ แน่นอน แต่ถ้าคุณเป็นแฟนมาดริดนิสต้า หรือ แฟนบอลทีมอื่นก็คงผิดหวังไม่น้อย เพราะเรอัล มาดริด ทำอะไรเจ้าบ้านแทบไม่ได้เลยตลอด 90 นาทีในคัมป์ นู
บาร์ซ่า เป็นออกนำไปก่อนจาก ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ และ หลุยส์ ซัวเรซ ในครึ่งแรก แม้ มาร์เซโล่ จะยิงตีไข่แตกให้ ‘โลส บลังโกส’ ในครึ่งหลัง แต่พวกเขาก็โดนรัวอีก 3 เม็ดรวดจาก หัวหอกชาวอุรุกวัย (2) และ อาร์ตูโร่ วิดัล ในช่วงท้าย
ที่สำคัญนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่ไม่มี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ ลิโอเนล เมสซี่ ลงสนามในเกมคู่หยุดโลกนี้ นับตั้งแต่ปี 2007 ด้วย
เรอัล มาดริด 1-1 บาร์เซโลน่า | 6 กุมภาพันธ์ 2019
ในฤดูกาล 2018-19 เป็นอีกครั้งที่ บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด ต้องโคจรมาพบกันในรายการ โคปา เดล เรย์ รอบตัดเชือก หลังดวลกันครั้งสุดท้ายในรายการนี้ในนัดชิงชนะเลิศฤดูกาล 2013-14
โดยเกมแรกฝั่ง บาร์ซ่า เป็นเจ้าบ้านต้อนรับก่อน และพัก เมสซี่ เป็นตัวสำรอง ขณะที่ฝั่งราชันชุดขาวที่ดูกระท่อนกระแท่นในยุค ซานติอาโก้ โซลารี่ กลับเป็นฝ่ายขึ้นนำไปก่อนจาก ลูคัส บาสเกซ ตั้งแต่นาทีที่ 6 แต่โชคยังดีที่ทีมของ เอร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ ยังได้ประตูตีเสมอจากลูกโหม่งของ มัลค่อม ในครึ่งหลัง ก่อนเกมนัดสอง ‘อาซูลกราน่า’ จะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ถึง ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว 3-0
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ดูจากรูปเกมและสถิติต่างๆ ก็จัดได้ว่าเป็นอีกนัดระหว่างการดวลกันของทั้งคู่ที่ชวนหาวเกมหนึ่งเหมือนกัน เพราะโอกาสยิง 11 ประตูที่เท่ากันของทั้ง 2 ทีม กลับตรงกรอบรวมกันไม่ถึงครึ่งของจำนวนดังกล่าว (บาร์ซ่า 2, มาดริด 3) และเกิดขึ้นเพียง 2 ประตูเท่านั้น
เรอัล มาดริด 0-1 บาร์เซโลน่า | 3 มีนาคม 2019
อีกหนึ่งเกมที่ไม่ดุเดือดสมกับชื่อ เอล กลาซิโก้ เท่าไหร่ แม้จะมีประตูโทนจาก อีวาน ราคิติช กองกลางชาวโครแอตก็ตาม
ทั้ง 2 ทีมทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานพอสมควร อย่าง บาร์ซ่า ที่แม้จะมี เมสซี่, ซัวเรซ หรือ อุสมาน เดมเบเล่ ครบองค์ประชุมในแนวรุก ก็ยิงทิ้งยิงขวางอยู่ไม่น้อย หนักสุดคงเป็นฝั่ง’ราชันชุดขาว’ เจ้าบ้านที่มีโอกาสยิงมากกว่าก็จริง แต่ก็ไม่ดีพอทีจะผ่าน อังเดร แตร์ ชแตร์เก้น ได้เลย
แต่ก็น่าเห็นใจฝั่ง ‘โลส บลังโกส’ ไม่น้อย เพราะในฤดูกาล 2018-19 ที่เสีย CR7 และ ซีเนดีน ซีดาน (แม้จะกลับมาคุมในภายหลัง) ส่งผลกระทบต่อทีมอย่างมากมายมหาศาล จนต้องหล่นไปคว้าอันดับ 3 แถมแพ้ไปมากถึง 12 นัดด้วยกันในปีนั้น
บาร์เซโลน่า 0-0 เรอัล มาดริด | 18 ธันวาคม 2019
หลายคนที่ได้ชมศึกเอล กลาซิโก้ นัดแรกของฤดูกาล 2019-20 ตั้งแต่ต้นจนจบ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการปะทะกันที่น่าเบื่อที่สุดในประวัติศาสตร์ของศึกครั้งนี้เลย
ไม่ว่าจะเป็นผลเสมอที่จบไปแบบจืดๆ, คุณภาพของเกมที่สนุกสนานน้อยลง เข้มข้นน้อยลง เมื่อเทียบกับหลายนัดก่อนหน้านี้ แม้จะเต็มไปด้วยแนวรุกระดับโลกมากมายทั้ง เมสซี่, ซัวเรซ, อองตวน กรีซมันน์ ในฝ่าย ‘เจ้าบุญทุ่ม’ หรือ คาริม เบนเซม่า, ลูก้า โมดริช และ แกเร็ธ เบล ในฝั่ง’ราชันชุดขาว’
อีกทั้งนี่เป็นผลเสมอ 0-0 ครั้งแรกในรอบ 17 ปีของศึกหยุดโลกแดนกระทิง แบ่งแต้มกันไปแบบกร่อยๆพอสมควร
บาร์เซโลน่า 0-0 เรอัล มาดริด | 23 พฤศจิกายน 2002
เมื่อ 21 ปีก่อน นี่เกมเอล กลาซิโก้ ที่จบลงด้วยผลเสมอแบบไร้ประตู ในสมัยที่ ชาบี เอร์นานเดซ การ์เลส ปูโยล หรือ ราอูล กอนซาเลซ ยังหนุ่มยังแน่น เป็นอนาคตทั้งในทีมชาติสเปนและต้นสังกัด
แม้ผลหลัง 90 นาทีคือ 0-0 แต่ถ้าเทียบกับศึกนี้เมื่อปลายปี 2019 ถือว่าเกมนี้ดูดีกว่าเยอะ ทั้งในแง่ของจังหวะทำประตู แทคติกที่ บิเซนเต้ เดล บอสเก้ สร้างขึ้นเพื่อรับมือกับแผนของ หลุยส์ ฟาน กัล ได้เป็นอย่างดี ติดอย่างเดียวคือการทำประตูของทั้ง 2 ทีมที่ยังขาดๆเกินๆเท่านั้น
และหลายคนก็จดจำเกมนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะนี่เป็นนัดที่ หลุยส์ ฟิโก้ โดนแฟนบอลบาร์ซ่า ขว้างหัวหมูลงใส่ในสนาม โทษฐานที่เลือกย้ายไปร่วมทีมอริตลอดกาลอย่าง ‘โลส บลังโกส’ เมื่อปี 2000