เป็นอีกครั้งที่วงการฟุตบอลไทย มาถึงจุดที่น่าเป็นห่วง ภายหลัง พ.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบ ตามคำเรียกร้องของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อเป็นการรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลซีเกมส์ 2023
แน่นอนว่ากรณีนี้อาจถูกมองว่าเข้าข่ายการเมืองแทรกแซงฟุตบอล ซึ่งนี่ถือเป็นกฎเหล็กของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ และอาจนำมาซึ่งการถูกสั่งลงโทษด้วยการแบนจาก ฟีฟ่า
โดยที่ผ่านมาเคยมีหลายชาติที่ถูกลงโทษจากกรณีคล้ายกันมาแล้ว ซึ่งวันนี้ UFAARENA จะขอพาไปย้อนดู 9 ชาติ ที่เคยถูก ฟีฟ่า สั่งแบนจากการปล่อยให้บุคคลที่ 3 เข้ามาแทรกแซงฟุตบอล เพื่อดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และโทษแบนของพวกเขารุนแรงแค่ไหน
อิรัก : ปี 2008
แม้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์ เอเอฟซี เอเชียน คัพ 2007 อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นแค่เพียงปีเดียว อิรัก ถูกสั่งลงโทษแบนโดย ฟีฟ่า จากกรณีปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงฟุตบอล ก่อนเกมนัดแรกศึกฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย จะเริ่มต้นขึ้นไม่นาน
โดยสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลของอิรัก สั่งยุบคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ และสหพันธ์กีฬาแห่งชาติ ทว่าหลังจากนั้นไม่นานโทษดังกล่าวถูกยกเลิกช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2008
ไนจีเรีย : ปี 2014
ขุนพล “อินทรีมรกต” ของกุนซือ สตีเฟน เคชี ทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวังในฟุตบอลโลก 2014 ที่ บราซิล ซึ่งพวกเขาตกแค่เพียงรอบ 16 ทีมสุดท้าย ด้วยการแพ้ ฝรั่งเศส
นั่นทำให้สหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรีย ตัดสินปฏิวัติครั้งใหญ่ด้วยการประกาศปลดคณะกรรมการบริหารแบบยกชุด ก่อนที่ศาลจะแต่งตั้งให้คนของรัฐบาลเข้ามาดูแลแทน ขณะเดียวกัน ฟีฟ่า ตัดสินใจสั่งแบนพวกเขาทันทีในวันที่ 9 กรกฎาคม ปี 2014 ทว่าโทษแบนสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน ภายหลังมีการจัดเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่แบบถูกต้อง
คูเวต : ปี 2015
คูเวต ถูกสั่งแบนจาก ฟีฟ่า เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี 2014 หลังพวกเขาปล่อยให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล แม้จะได้รับคำเตือนในตอนแรก ทว่าจนแล้วจนรอดรัฐบาลคูเวต ไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อิสระในการบริหารงานแก่สมาคม ตามคำเรียกร้องของ ฟีฟ่า และนั่นเป็นผลให้พวกเขาถูกลงดาบทันที
ผลจากการแบนครั้งนั้นทำให้ คูเวต ถูกตัดสิทธิ์จากการลงเล่นฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก และ เอเอฟซี เอเชียน คัพ 2019 รอบคัดเลือก ก่อนที่พวกเขาจะถูกยกเลิกโทษแบนเมื่อปี 2017
อินโดนีเซีย : ปี 2015
ในปีเดียวกันกับที่ คูเวต โดนลงโทษ อินโดนีเซีย เป็นอีกหนึ่งชาติจากเอเชีย ที่ถูกแบนจาก ฟีฟ่า ในกรณีเดียวกัน เหตุเกิดจากการที่รัฐบาลอินโดนีเซีย ตัดสินใจยุบสมาคมฟุตบอล ภายหลังมีการล้มบอลครั้งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศ ก่อนจัดตั้งสมาคมใหม่ขึ้นมาภายใต้อำนาจการดูแลของตนเอง
เช่นเดียวกับ คูเวต การโดนแบนครั้งนั้นของ อินโดนีเซีย ทำให้พวกเขาถูกตัดออกจากการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก และ เอเอฟซี เอเชียน คัพ 2019 รอบคัดเลือก ก่อนได้รับการยกเลิกโทษแบนในปี 2016
กัวเตมาลา : ปี 2016
ชาติจากโซนคอนคาเคฟ อย่าง กัวเตมาลา ถูกสั่งแบนเมื่อปี 2016 จากการที่รองประธานสหพันธ์ฟุตบอลของประเทศ ปฏิเสธการับรองคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าสขัดต่อหลักกฎหมายของประเทศ
ส่งผลให้พวกเขาถูกแบนจาก ฟีฟ่า นานถึง 2 ปี และโดนสั่งห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน คอนคาเคฟ โกลด์ คัพ เมื่อปี 2017 และ 2019
ปากีสถาน : ปี 2017
ปากีสถาน ถูกแบนจากกรณีไม่ต่างจากชาติอื่น หลังพวกเขาปล่อยให้บุคคลที่สามเข้ามาแทรกแซงและควบคุมการทำงานของสมาคมฟุตบอล เป็นผลให้ ฟีฟ่า สั่งแบนเมี่อปี 2017 ซึ่งโทษดังกล่าวมีผลนานกว่า 5 ปี ก่อนเพิ่งพ้นมลทินเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา
อินเดีย : ปี 2022
อินเดีย ถูกสั่งแบนจาก ฟีฟ่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2022 เหตุเกิดจากการที่ศาลได้ออกคำสั่งยุบสมาคมฟุตบอลอินเดีย เป็นการชั่วคราว พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ 3 คน เพื่อเข้ามาควบคุมการทำงานของ ปราฟุล พาเตล อดีตนายกสมาคม ที่อยู่ดำรงตำแหน่งเกินวาระและเลื่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ออกไปแบบไม่มีกำหนด
การโดนลงโทษของ อินเดีย ทำให้พวกเขาถูกยกเลิกสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี เมื่อปีที่แล้ว กระทั่งวันที่ 27 สิงหาคม ปีเดียวกัน ฟีฟ่า ได้ยกเลิกโทษแบน ภายหลังรัฐบาลแดนภารตะยุติการแทรกแซงสมาคมฟุตบอล และได้มีการจัดเลือกตั้งหานายกสมาคมคนใหม่แบบโปร่งใส
เคนยา : ปี 2022
ภายหลัง ไนจีเรีย คือชาติแรกจากแอฟริกา ที่ถูกสั่งแบนโดย ฟีฟ่า กรณีบุคคลที่ 3 เข้ามายุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล กระทั่งปี 2022 เคนยา เป็นชาติที่ 2 จากกาฬทวีป ที่ถูกลงโทษในข้อหาเดียวกัน
สาเหตุมาจากการที่กระทรวงกีฬาของเคนยา ตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ด้วยการใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลสหพันธ์ฟุตบอลของประเทศด้วยตนเอง ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาถูกแบนสั่งทันที และจนถึงตอนนี้ ฟีฟ่า ก็ยังไม่ได้มีการยกเลิกโทษดังกล่าว
ศรีลังกา : ปี 2023
นี่คือชาติล่าสุดที่ถูกสั่งแบนไปแบบสดๆ ร้อนๆ เมื่อช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา เหตุเกิดจากการที่รัฐบาลศรีลังกา มีส่วนเข้าไปแทรกแซงแก้ไขกฎการเลือกตั้งประธานสมาคมฟุตบอล เพื่อให้ ยัสวาร์ อุมา ไม่ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น
โทษแบนของ ศรีลังกา ทำให้พวกเขาหมดสิทธิ์ลงเตะเกม ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก ทันที รวมถึงห้ามเข้าร่วมการแข่งขันระดับเยาวชนทุกชุด และดูเหมือนว่าพวกเขาจะยังไม่ได้รับการยกเลิกโทษแบนในเร็วนี้ด้วย
สถานการณ์ของไทย
ต้องบอกเลยว่าถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก จากกรณีที่ พ.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตามคำเรียกร้องของประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ที่นำทีมโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อเป็นการรับผิดชอบกับเหตุการณ์ฉาวที่เกิดขึ้นในเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลซีเกมส์ 2023 ระหว่าง ไทย กับ อินโดนีเซีย ที่ทุกคนน่าจะทราบเรื่องกันดีอยู่แล้ว
แน่นอนว่าหากการลาออกครั้งนี้ได้รับการรับรอง แม้อาจไม่ใช่การถูกแทรกแซงจากการเมืองโดยตรง ทว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ อาจทำให้ ฟีฟ่า มองเป็นแบบนั้นได้
และหาก ไทย เราโดนสั่งแบนจริง ความเสียหายครั้งใหญ่จะตามมาแน่นอน อันดับแรกคือการถูกตัดออกจากการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นช่วงปลายปีนี้ รวมถึงการถูกยกเลิกการเป็นเจ้าภาพเกมรอบคัดเลือก ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024 ซึ่งนี่เป็นเส้นทางในการลุ้นตั๋วไปเล่นฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส
นั้นยังไม่รวมถึงการที่ ไทย จะไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องการเงินจาก ฟีฟ่า และสโมสรอาจถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันระดับนานาชาติทุกรายการ ซึ่งมันอาจหมายถึงเส้นทางสู่หายนะของวงกาลฟุตบอลบ้านเราเลยก็ว่าได้
ส่วนทางออกที่ดีที่สุดเวลานี้ คือการที่ พ.ต.อ.สมยศ จะอยู่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดของสมาคมต่อไปจนครบวาระในปีหน้า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหาผู้ประมุขฟุตบอลไทย คนใหม่อีกครั้ง แน่นอนว่าสำหรับแฟนบอลคงไม่อยากเห็นวงการฟุตบอลบ้านเรากลับไปดิ่งลงเหวอีก