เรียกว่าเกือบเอาตัวไม่รอดกับงานผู้จัดการทีมหนแรกในชีวิตของ เวย์น รูนี่ย์ กับ ดาร์บี้ เค้าน์ตี้ หลังพาทีมหนีตกชั้นได้ในเกมสุดท้ายของแชมเปี้ยนส์ชิพ ฤดูกาล 2020-21
ผมเสมอกับ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ทีมที่ตกชั้นไปแล้ว 3-3 ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้ ‘แกะเขาเหล็ก’ ยังอยู่รอดปลอดภัยในลีกรองแดนผู้ดีต่อไป โดยจบอันดับที่ 21 มีแต้มเหนือกว่า วีคอมบ์ วันเดอร์เรอร์ส ที่ตกชั้นไปเพียงคะแนนเดียวเท่านั้น
นี่ถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับ รูนี่ย์ ไม่น้อย เพราะนอกจากนี้ยังการคุมทีมครั้งแรกในอาชีพแล้ว เขายังต้องเจอกับการหนีตกชั้นแบบสุดชีวิต ที่เขาไม่เคยพบเจอเลยก่อนหน้านี้ ตลอด 19 ปีในอาชีพค้าแข้ง
UFA ARENA จึงขออาสาพาไปวิเคราะห์บทสรุปและภาพรวมของ รูนี่ย์ ในฐานะกุนซือปีแรกว่ามีทิศทางดีแย่มากน้อยแค่ไหน อย่างไร รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ นอกสนามส่งผลต่อการคุมทีมของเขาในบทความชิ้นนี้
ภาพรวมปีแรก
เริ่มต้นฤดูกาล ดาร์บี้ ในมือของ ฟิลลิป โคคู กุนซือชาวดัตช์ ออกสตาร์ทได้อย่างย่ำแย่ หลังชนะแค่เกมเดียว จาก 13 นัดแรก นัดก็คือเกมที่ รูนี่ย์ ซัดฟรีคิกสุดสวยใส่ นอริช แต่ถึงอย่างนั้นฟอร์มในสนามก็ทำทีมหล่นไปจ่มอยู่ท้ายตารางเรื่อยมา
จนกระทั่งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ‘วาซซ่า’ ได้เข้ามาคุมทีมแบบเต็มตัว ผลงานของทีมก็ค่อยกระเตื้องขึ้นจนกระโดดออกจากโซนตกชั้นได้ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ฟอร์มจะรุดจนต้องกลับมาหนีตกชั้นอีกครั้งในช่วงท้ายฤดูกาล
หากนับรวมตารางแชมเปี้ยนส์ชิพ แค่ตอนที่ รูนี่ย์ คุมทีมเพียงอย่างเดียว เขาจะพา ดาร์บี้ รั้งอันดับ 16 ของตาราง จาก 32 เกมแรก ซึ่งหากแบ่งเป็นครึ่งฤดูกาล ช่วง 16 เกมแรก ชนะไป 8, เสมอ 4 และ แพ้ 4 โดยยิงไป 16 ประตู แต่เสียเพียง 10 ลูกเท่านั้น
แต่อีก 16 เกมต่อมา ทีมกลับชนะเพียง 2 และ เสมออีก 3 นัด ยิงเพียง 12 ประตู และเสียไป 25 ลูก แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาทีมดูมีปัญหาไม่น้อย
ดาร์บี้ ในมือ ‘รูน’ แพ้ 6 เกมติดต่อกัน มีเพียง 2 ทีมเท่านั้นที่มีผลการแข่งขันที่แย่ติดต่อกันนมากกว่าพวกเขาในฤดูกาลนี้ ซึ่งก็คือ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ และ วีคอมบ์ วันเดอร์เรอร์ส ทีมที่มีอันดับต่ำกว่าเขาทั้งคู่ และตกชั้นไปในฤดูกาลล่าสุด
ขาดบีลิค-เกมรุกหวังผลไม่ได้
‘แกะเขาเหล็ก’ ของ รูนี่ย์ อาจอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่านี้ หาก คริสเตียน บีลิค ฟิตสมบูรณ์พร้อมลงเล่นทุกเกม เมื่อกองกลางวัย 23 ปี ถูกคว้ามาจาก อาร์เซน่อล ในช่วงซัมเมอร์ปี 2019 แต่ในฤดูกาล เขามีส่วนร่วมกับทีมไม่มากนัก เนื่องจากอาการบาดเจ็บรบกวน
ฤดูกาลที่แล้ว แข้งชาวโปล ลงเล่นไป 20 นัด ก่อนบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่า พักยาวก่อนใครเพื่อนช่วงเดือนธันวาคมปี 2019 จากนั้นก็กลับมาได้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทว่าก็ลงเล่นไป 13 นัด ก่อนเจ็บแบบเดิมอีกในเวลาต่อมา
การกลับมาของ บีลิค มีส่วนสำคัญมากในทีมที่ รูนี่ย์ ขาดเขาไปไม่ได้เลย ในช่วง 12 เกมที่ส่งกองกลางตัวเก่งลงสนาม ทีมคว้าชัย 6 นัด แต่เมื่อไม่มีเขา รูนี่ย์ เก็บชัยชนะเพียง 4 จาก 20 นัด ซึ่ง 21 จากทั้งหมด 44 แต้ม ก็มาจากการลงเล่นของ บีลิค 13 นัดนั่นเอง
ดาร์บี้ ภายใต้การดูแลของ อดีตหอกทีมชาติอังกฤษ เล่นเกมรับได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาชัดเจนคือเกมรุก โดยยิงเพียง 36 ลูกเท่านั้นตลอด 46 นัดในลีก เป็นทีมอันดับล่างที่ยิงได้น้อยสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของ แชมเปี้ยนส์ชิพ รองจาก โบลตัน (29) ที่ตกชั้นในฤดูกาล 2018-19 เท่านั้น
โดยในช่วงของ รูนี่ย์ กดไปเพียง 31 ลูก ซึ่งก็ยังน้อยมาก ๆ อยู่ดี เนื่องจากภาระการยิงประตูตกอยู่ที่ โคลิน คาซิม-ริชาร์ดส์ หอกมากประสบการณ์เพียงคนเดียว ที่กดไป 8 ลูก และไม่มีใครในทีมที่ยิงได้เกิน 3 ประตูเลย เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นจุดสำคัญที่ รูนี่ย์ ต้องปรับปรุงให้ได้ในฤดูกาลต่อไป
ปัญหาหลังม่าน
จริง ๆ ก่อนที่ รูนี่ย์ จะได้คุมทีม ‘แกะเขาเหล็ก’ ก็ดูขาดสมดุลมาตั้งแต่ยุคของ โคคู แล้ว ซึ่งเต็มไปด้วยดาวรุ่ง แต่ไม่สามารถก้าวขึ้นมาทำผลงานได้ดีเท่าไหร่นัก
เมื่อทีมจมอยู่ท้ายตาราง ทำให้ ฟางเส้นสุดท้ายของ กุนซือชาวดัตช์ ขาดลง และตำแหน่งที่ส่งต่อให้ รูนี่ย์ ที่เป็นผู้เล่นควบโค้ช เข้ามาทำหน้าที่รักษาการณ์แทน
ต่อมาไม่นาน เขาประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการ เพื่อทุ่มเทกับงานกุนซือเต็มตัว ซึ่งก็ดูได้ผลลัพธ์ทีดีในช่วงแรก แต่เมื่อผลงานในทีมตกลง ก็ทำให้ความมั่นใจของนักเตะลดลงตามไปด้วย
แต่โทษไปที่การทำหน้าที่ของ รูนี่ย์ เพียงอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้องเท่าไหร่ เพราะ ดาร์บี้ เองก็มีปัญหาเบื้องหลังที่ส่งผลต่อทีมเช่นกัน
ความตกต่ำของทีมมีผลมาจาก การทุมงบเสริมทัพก้อนโตเพื่อกลับไปสู่พรีเมียร์ลีก ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ และก็ต้องพบกับความล้มเหลว โดยอกหักไปถึงฝั่งฝันอยู่หลายหนทั้งอันดับในลีกหรือจาการเพลย์ออฟเลื่อนชั้น
อีกทั้ง เจ้าของสโมสร เมล มอร์ริส ล้มเหลวในการขายสโมสรให้กับ ชีค คาเล็ด หลังไม่สามารถเจรจาได้กับผู้ซื้อได้ลงตัวในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการทำทีมของ รูนี่ย์ เป็นอย่างมาก เพราะสโมสรตัดสินใจขาย 4 นักเตะในช่วงตลาดซื้อขายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งตัวหลักและตัวสำรองได้แก่ ดูอาน โฮล์มส์, จอร์จ อีแวนส์, มอร์แกน วิทเทเกอร์, ไคด์ กอร์ดอน
รวมถึงปัญหาเรื่องที่นักเตะไม่ได้รับค่าจ้างตรงเวลาอยู่หลายครั้งในฤดูกาลนี้ ก็เป็นสิ่งที่ รูนี่ย์ ต้องพยายามรับมือจัดการให้ได้ไม่แพ้เรื่องในสนามเช่นกัน
ประสบการณ์หวานปนขม
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่ รูนี่ย์ เคยพบเจอมากมาย ตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นนักเตะอาชีพ ทั้งช่วงที่แจ้งเกิดกับ เอฟเวอร์ตัน หรือ กลายเป็นยอดแข้งระดับโลกกับ ยูไนเต็ด แต่มันดูแตกต่างกันมาก เมื่อเขาได้รับเสียงเหล่านี้ในช่วงที่ทำหน้าที่ผู้จัดการทีม
ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ย่ำแย่ , การวางเกมรับที่หละหลวม หรือการให้สัมภาษณ์ที่ยอมรับกับความพ้ายแพ้ในเกมพ่าย เปรสตัน 3-0 ช่วงเดือนเมษายน ก็ทำเอาแฟนบอล ดาร์บี้ ท้อแท้ จนอยากเปลี่ยนกุนซือใหม่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตามก็มีเสียงบางส่วนที่ออมาปกป้อง รูนี่ย์ แม้มองในมุมคล้าย ๆ กันว่า เขาเปลี่ยนตัวผู้เล่น หรือแผนการเล่น มากจนเกินไป แต่นี่ก็เป็นปีแรกของเขาในฐานะผู้จัดการทีม
อีกทั้งยังมีปัญหาอาการบาดเจ็บของนักเตะอีกหลายคน เช่นเดียวกับ ผู้เล่นที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้ทำผลงานได้คงเส้นคงวาตามาตรฐานนัก ก็ควรถูกตำหนิด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุด รูนี่ย์ ก็ใช้ประสบการณ์ที่เขามีทั้งหมดตลอดอาชีพค้าแข้ง ช่วยให้ ‘แกะเขาเหล็ก’ เอาตัวรอดจากการตกชั้นได้สำเร็จ ในเกมสุดท้ายของฤดูกาล 2020-21
เขาอาจเคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก, คว้าแชมป์ยุโรป หรือเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก มาแล้วหลายครั้ง แต่นี่คือครั้งแรกที่ รูนี่ย์ ต้องพบเจอกับประสบการณ์ในการเอาตัวรอดหนีตกชั้น ซึ่งเป็นอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่เขาเคยเจอมาหลายเท่าตัว
แม้ว่านี่อาจไม่ใช่สิ่งที่ ตำนานแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คาดหวังไว้ว่าจะต้องพบเจอตั้งแต่ปีแรกในเส้นทางสายกุนซือ แต่มันก็เป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่เขาไม่อาจลืมมันได้เช่นกัน
และเชื่อว่าบทเรียนดังกล่าวจะช่วยให้เขาเติบโตไปในเส้นทางสายนี้ในอนาคตข้างหน้าได้ไกลกว่านี้อย่างแน่นอน