นับเป็นเวลา 14 ปีแล้วที่ชายนามว่า ‘ไมค์ แอชลี่ย์’ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด หนึ่งในสโมสรชื่อดังเบอร์ต้นๆของอังกฤษ พร้อมเรื่องราววุ่นๆมายกมายในรั้ว ‘สาลิกาดง’
ตลอดเวลานั้นเต็มไปด้วยความข่มขื่นสำหรับสาวก ‘ทูน อาร์มี่’ อย่างแท้จริง เนื่องจาก เศรษฐีชาวผู้ดี ได้เปลี่ยนสโมสรที่เคยลุ้นอันดับท็อปโฟร์ ให้กลายเป็นทีมระดับกลางตารางอย่างสมบูรณ์แบบ มิหนำซ้ำ ทีมยังต้องตกชั้นไปเล่นลีกรองถึง 2 ครั้ง 2 คราในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆก็โผล่มาให้แฟนๆของทีมแดนอีสานได้เห็นบ้าง หลังสื่ออังกฤษหลายเจ้ารายงานว่า กลุ่มทุนจาก ซาอุดิอาระเบีย จ่อเทคโอเวอร์สโมสรได้ในเร็วๆนี้ เมื่อสามารถตกลงข้อพิพาทกับ บีอิน สปอร์ตส์ ได้เรียบร้อยหลังถูกกีดกันการเทคโอเวอร์ในปีก่อนเนื่องจาก ซาอุดิอาระเบีย แฮ็คสัญญาการถ่ายทอดสดเกม พรีเมียร์ลีก ไปแพร่ภาพในประเทศแบบละเมิดลิขสิทธิ์
ด้วยเหตุนี้ ทาง UFA ARENA จึงขอพาแฟนบอลทุกท่านย้อนไปชม 10 เหตุการณ์สำคัญนับตั้งแต่ ไมค์ แอชลี่ย์ เข้ามาบริหารทีมในถิ่น เซนต์ เจมส์ ปาร์ค เมื่อ 14 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน
เทคโอเวอร์สาลิกา
ไมค์ แอชลี่ย์ ซื้อสโมสรนิวคาสเซิลในเดือนพฤษภาคมปี 2007 จาก เฟร็ดดี้ เชพเพิร์ด และ เซอร์ จอห์น ฮอลล์ ด้วยมูลค่า 134 ล้านปอนด์ พร้อมตามล้างตามเช็ดหนีเก่าให้กว่า 100 ล้านปอนด์จนหมด
ซึ่งในช่วงแรกที่เขามาเป็นเจ้าของทีมเต็มตัว แอชลี่ย์ แตกต่างจากผู้บริหารหลายทีมในโลก เนื่องจากบ่อยครั้งที่เขามักจะเข้ามาดื่มกับแฟนบอลในบาร์ ยามที่ทีมแข่งนอกบ้าน
แอชลี่ย์ ได้เดินทางไปกับแฟนบอลไป ซันเดอร์แลนด์ ทีมอริร่วมเมือง พร้อมกับสวมเสื้อทีมสาลิกาดงแบบจัดเต็ม และก็ไม่แปลกที่ ทีม ‘แมวดำ’ จะปฏิเสธต้อนรับเขาสู่ห้อง Corporate Box ของสโมสรจากชุดนั้น ซึ่งทำให้เขาได้ใจ ‘ทูน อาร์มี่’ ไปเต็มๆ
ในเดือนสิงหาคมปี 2008 มีภาพ แอชลี่ย์ ดื่มเบียร์กับแฟนบอลที่เดินทางไปเกมพบอาร์เซน่อลผ่านทางโทรทัศน์ แต่ต่อมา นิวคาสเซิลก็แถลงการณ์อ้างว่า เบียร์ที่แอชลี่ย์ดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์
การกลับมาของคิงเคฟ
หลังปลด แซม อัลลาไดซ์ แอชลี่ย์ ก็เอาใจเหล่า ‘ทูน อาร์มี่’ อีกรอบด้วยการดึง เควิน คีแกน ตำนานของสโมสรกลับมากุมบังเหียนทีมอีกครั้ง
ในเดือนมกราคมปี 2008 คีแกนได้มาถึงไทน์ไซด์เป็นครั้งที่ 2 ในฐานะกุนซือ ซึ่งแฟนๆในสนามเซนต์ เจมส์ ปาร์ค ต่างให้การต้อนรับ เขาที่ยืนอยู่ข้างๆ แอชลี่ย์ เป็นอย่างดี
ณ ตอนนั้น นักธรุกิจแดนผู้ดี ห่างไกลและไม่มีท่าทีว่าจะสร้างความกังวลใจให้กับแฟนบอล ‘สาลิกาดง’ แต่อย่างใด
แต่ช่วงที่ คีแกน คุมทีมแดนอีสานคำรบที่ 2 ช่างเป็นเวลาที่แสนสั้นเพียง 9 เดือน หลังมีปัญหากับ เดนนิส ไวส์ ผู้อำนวยการฟุตบอลของสโมสรที่เน้นการปั้นดาวรุ่งเพื่อขายทำกำไร
อดีตกองกลางลิเวอร์พูล ลาออกในเดือนกันยายน ซึ่งต่อมาได้อ้างว่าถูกไล่ออกในการประชุมกับ ไวส์ และ เดเร็ก แรมบิอาส กรรมการผู้จัดการของทีม
คีแกน ชนะคดีความจากการถูกเลิกจ้าง และแอชลี่ย์ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เขา 2 ล้านปอนด์ และเรื่องวุ่นๆก็ตามมาหลังนี้อีกมากมาย
จาก คีแกน สู่ คินเนียร์
โจ คินเนียร์ ถูกแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว เพื่อแทนที่ คีแกน ที่แยกทางไป ซึ่งนี่เริ่มกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ แฟนบอล เริ่มตั้งคำถามกับ แอชลี่ย์ กับการตัดสินใจครั้งนี้
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก แอชลี่ย์ ดันไปมอบตำแหน่งให้ อดีตกุนซือ วิมเบิลดัน และ ลูตัน ทาวน์ ที่ไม่ได้คุมทีมในลีกสูงสุดมานานเกือบทศวรรษ
คินเนียร์ พ่นคำสบถถึง 70 ครั้งในงานแถลงข่าวเพียงครั้งเดียว และปฏิเสธที่จะพูดกับสื่อๆในประเทศ เพราะไม่สบอารมณ์กับคำถามที่ตนเองได้รับ
อย่างไรก็ตาม ผลงานในทีมก็ไม่ได้ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังดูแย่กว่าเดิมอีกหลังหล่นไปอยู่โซนตกชั้น ก่อนที่ คินเนียร์จะก้าวลงจากตำแหน่งเพราะปัญหาทางด้านหัวใจ
ทั้งนี้ พฤติกรรมแปลกๆทั้งการพ่นคำด่ากลางงานแถลงข่าว, หรือเรียกชื่อนักเตะผิดๆถูกๆของ คินเนียร์ เป็นจุดเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมของเขาซึ่งตรวจพบจริงๆในปี 2015 ซึ่งอาการป่วยส่งผลให้เขามีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ ไม่แน่นอน จากคำบอกเล่าของคนในครอบครัว และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในปัจจุบัน
เชียเรอร์ ผู้ช่วยชีวิต?
นั่นทำให้ แอชลี่ย์ หันไปคว้า อลัน เชียเรอร์ ตำนานดาวยิงของสโมสร เข้ามาเป็นคนกู้วิกฤตให้รอดพ้นจากตกชั้นในฤดูกาล 2008-09
แม้อดีตแข้งฉายา ‘ฮอตช็อต’ จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของทีมให้นำสต๊าฟโค้ชที่ตนเองต้องการมาช่วยงานได้ แต่ทุกอย่างก็ไม่ดีขึ้นมากนักในสายตาแฟนบอล หลังพาทีมเก็บได้เพียง 5 คะแนน จากการลงเล่น 8 นัด
หลังจากที่ตกชั้นไปเล่น แชมเปี้ยนส์ชิพ อย่างแน่นอน แอชลี่ย์ ก็แยกทางกับ เชียเรอร์ และแต่งตั้ง คริส ฮิวจ์ตัน มาทำหน้าที่กุนซือแทน
นับตั้งแต่นั้นมา ตำนานขวัญใจ ‘ทูน อาร์มี่’ ก็ไม่เคยพบหน้าเจ้าของทีมสาลิกาดงอีกเลย แม้ว่าเขาจะเปลี่ยนชื่อบาร์ในสนามเป็นชื่อของดาวสูงสุดตลอดกาลก็ตาม
ไม่มีสิ่งใดทำให้ชื่อเสียงด้านลบของ แอชลี่ย์ ลดน้อยลงในหมู่แฟนๆ ส่วน เชียเรอร์ ก็ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์จัดหนัก แอชลี่ย์ ผ่านรายการ แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ อยู่หลายหนนับตั้งแต่นั้น
เปลี่ยนชื่อรังเหย้า
ในเดือนตุลาคมปี 2009 แอชลี่ย์ เปลี่ยนชื่อสนาม เซนต์ เจมส์ ปาร์ค เป็น สปอร์ต ไดเร็คท์ หนึ่งในธุรกิจที่เขาเป็นเจ้าของ โดยให้เหตุผลที่ทำแบบนั้นว่าต้องการดึงให้สปอนเซอร์หน้าใหม่เข้ามาลงทุน
ทว่า แฟนบอลของทีมไม่ได้มองแบบนั้น เนื่องจากมองว่าสโมสรกำลังสูญเสียมรดกสำคัญไป และ พวกเขาก็จัดตั้งแคมเปญเพื่อต่อต้านไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น
ชื่อสนามถูกใช้จนจบฤดูกาลนั้น แต่อีก 2 ปีต่อมา ก็มีการใช่ชื่อใหม่เป็น สปอร์ต ไดเร็กท์ อารีน่า ซึ่งก็สร้างความเดือดดาลให้ทูน อาร์มี่ ไม่แพ้ครั้งก่อน
แม้ต่อมา รังเหย้าของทีมจะกลับมาใช้ชื่อ เซนต์ เจมส์ ปาร์ค เหมือนเดิม แต่คำว่า ‘สปอร์ต ไดเร็กท์’ ก็ยังติดอยู่ทั่วสนามของสโมสร
มาเฟียค็อกนี่
ภายใต้ การดูแลของ อลัน พาร์ดิว ที่ถลุงเงินเพื่อคว้าแข้งชาวฝรั่งเศสมาร่วมทีมมากมาย ช่วยให้ นิวคาสเซิล คว้าอันดับ 5 มาครองในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2011-12
ทีมมีดาวเด่นแดนน้ำหอมอย่าง โยฮัน กาบาย, มาติเยอ เดอบูชี่, เดมบ้า บา และ มุสซ่า ซิสโซโก้ ช่วยให้ทีมไปเล่นฟุตบอลยุโรปได้สำเร็จ และทะลุถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในยูโรป้าลีก
ถึงแม้จะเป็นอย่างนี้ แต่การแต่งตั้งกุนซือชาวลอนดอน ก็ไม่ใช่เรื่องที่หลายคนสบอารมณ์นัก และยังสร้างความสงสัยแคลงใจไปมากกว่าเดิมอีก เมื่อ พาร์ดิว ได้สัญญานานถึง 8 ปี ในเดือนกันยายนปี 2012
พาร์ดิว ถูกมองไม่ต่างจาก เดนนิส ไวส์ ว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกของมาเฟียค็อกนี่ (ชาวลอนดอนฝั่งตะวันออก) และแฟนๆจะนำมาพูดถึงบ่อยครั้ง ยามที่เขาเริ่มทำผลงานได้ย่ำแย่
อย่างไรก็ตาม แอชลี่ย์ ก็ทำเงินได้จาก พาร์ดิว เมื่อ คริสตัล พาเลซ จ่ายค่าฉีกสัญญาเพื่อดึงตัวเขาไปคุมทีมในเดือนมกราคมปี 2015
คนเขินกล้อง
นอกเหนือจากฤดูกาลแรกของเขา แอชลี่ย์ ก็ไม่เคยโผล่หน้าให้เห็นในสนามผ่านทางจอแก้วอีกเลย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาโผล่มาในสนาม เซนต์ เจมส์ ปาร์ค ไม่กี่ครั้ง และโผล่ไปในเกมเยือนของสโมสรมากกว่า รวมถึงการให้สัมภาษณ์ต่างจากสื่อก็น้อยมากเช่นกัน
ในเดือนเมษายน ปี 2015 นิวคาสเซิล ต้องคว้าชัยชนะให้ได้เพื่อรอดพ้นจากการตกชั้นในวันสุดท้ายของฤดูกาล ซึ่งเป็นเวลาที่ แอชลี่ย์ โผล่มาให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
เศรษฐีแดนผู้ดีประกาศลั่นในเกมที่พบ เวสต์แฮม วันนั้นว่า เขาจะขายทีมก็ต่อเมื่อได้ชูถ้วยหรือ เข้ารอบไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เท่านั้น
นับตั้งแต่นั้นมา เขาก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ 2 หน โดยครั้งแรกกับ สกายสปอร์ตในปี 2017 และอีกครั้งกับ สกาย สปอร์ต เช่นกันในปีต่อมา ซึ่งอ้างว่าเขาเกือบจะขายสโมสรได้แล้วในช่วง 12 เดือนก่อนหน้านี้
นโยบายซื้อขาย
แผนการหลักๆของ แอชลี่ย์ในการเสริมทัพก็คือ คว้าตัวแข้งอายุน้อยมาปลุกปั้น และขายต่อให้กับทีมอื่นในราคาที่ทีมได้กำไร
เราเห็นนโยบายนี้ประสบความสำเร็จอยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น มุสซ่า ซิสโซโก้, จีนี่ ไวจ์นัลดุม, เดมบ้า บา หรือ อาโยเซ่ เปเรซ
อย่างไรก็ตาม มีไม่น้อยที่คว้ามาร่วมทีมแต่กลับล้มเหลวจนปั่นราคาไม่ออก เช่น เรมี่ กาเบลล่า, ฟลอเรียน โตแว็ง และ เอ็มมานูเอล ริวิแยร์
อีกสิ่งที่แอชลี่ย์ไม่เคยทำเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการทำลายสถิติของสโมสรในการคว้าแข้งหน้าใหม่ โดยสถิติเดิมก่อนหน้านี้คือการคว้าตัว ไมเคิล โอเว่น ด้วยค่าตัว 16 ล้านปอนด์ในเดือนสิงหาคมปี 2005
นี่เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในยุคของ แอชลี่ย์ แต่ทว่าเขากลับทุบสถิติสโมสรถึง 2 ครั้งในรอบ 6 เดือน เมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการคว้าตัว มิเกล อัลมิร่อน 21 ล้านปอนด์ และ โจลิงตัน หัวหอกชาวบราซิลเลี่ยนอีก 40 ล้านปอนด์
ราฟาก็อยู่ไม่ไหว
ราฟาเอล เบนิตเซ เข้ามาคุมทีมในเดือนมีนาคมปี 2016 เพื่อช่วยให้สโมสรอยู่รอดปลอดภัยในพรีเมียร์ลีก หลังจากที่เริ่มต้นฤดูกาลได้อย่างย่ำแย่ภายใต้การกุมบังเหียนของ สตีฟ แม็คคาเรน
กุนซือชาวสแปนิช อาจล้มเหลวในการพา ‘สาลิกาดง’ อยู่รอดในลีกสูงสุดของประเทศ แต่แอชลี่ย์ ก็มอบสัญญา 3 ปี ให้กับ อดีตนายใหญ่ลิเวอร์พูลในวันสุดท้ายของฤดูกาล 2015-16
อย่างไรก็ตาม เบนิเตซ และ แอชลี่ย์ ต่างมีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีต่อกันนัก เนื่องจาก เขารู้สึกว่า เจ้าของทีมชาวอังกฤษ ไม่แสดงควาามทะเยอทะยานในตลาดนักเตะหรือพัฒนาให้ทีมเติบโตกว่าที่เป็นเลย
ท้ายที่สุด กุนซือเลือดกระทิงก็พิสูจน์ว่าเขายิ่งใหญ่เกินกว่าจะคุมทีมแบบนี้ภายใต้การดูแลของ แอชลี่ย์ และปล่อยให้สัญญาหมดลงโดยไม่มีการเจรจาจากทั้ง 2 ฝั่ง
เหล่า ‘ทูน อาร์มี่’ ต้องเจ็บช้ำอีกครั้งกับการต้องเสียกุนซือมือดีไป แต่พวกเขาต่างอวยพรให้ เบนิเตซ โชคดีกับงานใหม่ซึ่งก็คือ ต้าเหลียน ยี่ฝาง ในประเทศจีน ก่อนที่ 2 ปีต่อมา ราฟา หวนกลับมาคุมทีมในอังกฤษอีกครั้งกับ เอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาลล่าสุด
ใกล้ถึงยุคเปลี่ยนผ่าน?
หลังไม่ประสบความสำเร็จในการขายสโมสร แอชลี่ย์ ก็ประกาศขายนิวคาสเซิลอีกครั้งในปี 2017
นักธุรกิจหญิงชื่อว่า อแมนด้า สเตฟลี่ย์ ผู้เป็นคนสำคัญที่ทำให้ ชีค มันซูร์ ซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้เมื่อหลายปีก่อน พยายามต่อกรกับแอชลี่ย ซึ่งตัวเขาก็กระตือรือร้นที่จะขายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม 4 เดือนต่อมา เรื่องราวก็จบลง โดยที่แอชลี่ย์อธิบายถึงความพยายามของเธอนั่นเสียเวลาเปล่า
แม้ว่าจะได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย นักธุรกิจหญิงวัย 47 ปีก็กลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยในหนนี้มี กลุ่มทุนจากซาอุดิอาระเบีย คอยหนุนหลังเธอ
แอชลี่ย์ และ นิวคาสเซิล ยังไม่ได้ออกมาพูดเรื่องนี้ แต่มีแหล่งข่าวใกล้ชิดได้รายงานกับ สกาย สปอร์ต ว่า สเตฟลี่ย์ ใกล้ตกลงซื้อสโมสรในราคา 300 ล้านปอนด์ ซึ่งน้อยกว่าที่ แอชลี่ย์ ต้องการในช่วงหลายเดือนก่อนถึง 40 ล้านปอนด์
แต่สาวกของ ‘เดอะ แม็กพายส์’ ก็ฝันค้างอีกครั้ง เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าซาอุดิอาระเบีย มีการนำสัญญาณสด พรีเมียร์ ลีก มาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสัญญาณอย่าง บีอิน สปอร์ตส ตั้งแต่ปี 2017 ทำให้ถูกปิดประตูไม่อนุญาตให้กลุ่มทุนดังกล่าวเข้ามาเทคโอเวอร์ นิวคาสเซิล แม้ว่า ไมค์ แอชลีย์ เจ้าของทีมจะยินดีขายแล้วก็ตาม จนต้องถอนตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนปี 2020
ทว่าล่าสุด มีการเปิดเผยว่า เจ้าชาย บิล ซัลมาน และทีมงานได้จัดการกลุ่มผู้ปล่อยสัญญาณละเมิดลิขสิทธิ์ของ บีอิน สปอร์ตส ไปหมดเรียบร้อยแล้ว ร่วมถึงสามารถพิสูจน์ต่อ พรีเมียร์ลีก ได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐซาอุดีอาระเบีย ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดย ดิ แอธเลติก มีการยืนยันว่ากลุ่มทุนจาก ซาอุดิอาระเบีย สามารถเทคโอเวอร์ทีมในราคา 300 ล้านปอนด์ที่พวกเขายื่นข้อเสนอคราวก่อน ซึ่งหากสำเร็จลุล่วงจะทำให้ทีมจากแดนอีสานของอังกฤษกลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่รวยที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกในทันทีชนิดที่ไม่มีทีมไหนทาบทามได้เลย
แฟน ‘สาลิกาดง’ ที่ต่างผ่านความผิดหวังมาหลายต่อหลายครั้ง และคงหวังว่าช่วงเวลา 14 ปีที่แอชลี่ย์กับทีมรักของพวกเขาคงจะสิ้นสุดลงในเร็วๆนี้