บิดาแห่งเกเก้นเพรสซิ่ง : รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ “ราล์ฟ รังนิก” แม่ทัพอสูรคนใหม่

รังนิก

“ต้นตำรับเกเก้นเพรสซิ่ง” , “ปรมาจารย์แห่งวงการลูกหนังเยอรมัน” , “คุณครูและแรงบันดาลใจของโธมัส ทูเคิ่ล , เจอร์เก้น คล็อปป์ และ ยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์” ทั้งหมดคือสิ่งที่นิยามถึง ราล์ฟ รังนิก กุนซือคนใหม่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

โดยนายใหญ่วัย 63 ปี จะเข้ามาดูแลปีศาจแดงด้วยสัญญาระยะสั้นไปจนจบฤดูกาลนี้ และจะนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาของสโมสรต่ออีก 2 ปี นั่นหมายความว่าเขาจะมีบทบาทสำคัญในการเลือกเทรนเนอร์คนใหม่ของเร้ดเดวิลส์ในช่วงซัมเมอร์หน้าด้วย

“โชคร้ายที่โค้ชฝีมือดีกำลังจะมาที่อังกฤษ นั่นคือสิ่งที่มันเป็น มาที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดยูไนเต็ด จะได้รับการจัดระเบียบในสนาม เราควรตระหนักถึงเรื่องนั้น นั่นชัดเจนว่าไม่ใช่ข่าวดีสำหรับทีมอื่น”

นี่คือคำพูดจาก คล็อปป์ ถึง รังนิก ก่อนที่ แมนฯ ยูไนเต็ด จะประกาศแต่งตั้งครูใหญ่แห่งวงการฟุตบอลเมืองเบียร์เพียงไม่กี่วัน… ทว่าเขาเป็นใคร? แนวทางการทำทีมเป็นแบบไหน? หรือมีไอเดียสุดสร้างสรรค์อะไรบ้าง? เราได้รวบรวมทุกอย่างที่คุณควรรู้มาไว้ที่นี่แล้ว

 

ใครคือ รังนิก?

แม้ว่า รังนิก จะเป็นที่รู้จักในฐานะกุนซือ แต่ตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะมาอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด คือหัวหน้าฝ่ายกีฬาและการพัฒนาที่ โลโคโมทีฟ มอสโกว สโมสรฟุตบอลในประเทศรัสเซีย และห่างหายจากงานคุมทีมมา 2 ปีแล้ว

เจ้าของฉายา “เดอะ โปรเฟสเซอร์” เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อนเหมือนกับเทรนเนอร์ชื่อดังส่วนใหญ่ แต่เขาไม่ได้มีช่วงเวลาที่น่าจดจำอะไร ทั้งยังมีอาชีพการค้าแข้งที่สั้นมากในลีกระดับล่างของเยอรมัน ก่อนที่จะผันตัวมาสู่เส้นทางโค้ชในปี 1983 ด้วยวัยเพียง 25 ปี

ตั้งแต่นั้นมา รังนิก จัดการไปแล้วถึง 12 ทีมที่ไม่ซ้ำกัน รวมถึง สตุ๊ตการ์ต (1999-2001) , ฮันโนเวอร์ (2001-2004) , ชาลเก้ 04 (2004-2005 และ 2011) , ฮอฟเฟ่นไฮม์ (2006-2011) และ แอร์เบ ไลป์ซิก (2015-2016 และ 2018-2019)

นอกจากนี้ เจ้าตัวยังประสบความสำเร็จในฐานะผู้อำนวยการฟุตบอลภายใต้เครือเร้ดบูลล์ ทั้งกับ เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก และ แอร์เบ ไลป์ซิก โดยในช่วงเวลาที่นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฟุตบอลที่ ไลป์ซิก เขาได้ช่วยให้สโมสรทะยานจากลีก 4 ของเยอรมันขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดอย่างบุนเดสลีก้าได้สำเร็จ

รังนิก

 

ปรัชญาการคุมทีม

“มันเกี่ยวกับการควบคุมเกม อันที่จริงแล้ว เรามี 5 สถานการณ์ในเวลาเดียวกันที่จะตัดสินเกมฟุตบอล” รังนิก อธิบายถึงปรัชญาของตัวเองในการพูดคุยกับ The Coaches’ Voice

“ในฐานะโค้ช คุณต้องมีไอเดียที่ชัดเจนมากว่าเราต้องการเล่นยังไง เมื่อเราครอบครองบอลอยู่”

“ข้อที่สองคือ เราจะทำยังไงถ้าอีกทีมได้บอล? แผนการเล่นแบบไหนที่ผมจะสั่งให้ลูกทีมเล่นเมื่ออีกทีมได้บอล? ไอเดียของเราชัดเจน มันคล้ายกันมากกับเพื่อนโค้ชของผมอย่าง เจอร์เก้น คล็อปป์ เร้ดบูลล์ฟุตบอลของเราเป็นแนวเฮฟวี่ เมทัล , ร็อค แอนด์ โรล มันไม่ใช่แนววอลซ์ที่ช้า เราเกลียดการจ่ายบอลขวางสนาม และจ่ายบอลคืนหลัง แค่ครองบอลไว้กับตัวเฉยๆมันไม่สมเหตุสมผล”

“จากนั้นเราก็มีช่วงเวลาของการเปลี่ยนเกม จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราเสียบอล และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราแย่งบอลกลับมาได้? นี่คือข้อ 3 และข้อ 4

“จากนั้น แน่นอนว่าเรามีลูกตั้งเตะ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้า 30 เปอร์เซ็นต์ของประตูมาจากลูกตั้งเตะ เราควรจะลงทุนกับลูกตั้งเตะของเรากี่เปอร์เซ็นต์? มันคือ 30 เปอร์เซ็นต์เลยนะ”

 

ประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง

ตลอดเส้นทางการเป็นเฮ้ดโค้ช รังนิก สามารถคว้าแชมป์มาได้ 7 รายการ และมีเหรียญรองแชมป์อีก 3 เหรียญ โดยช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแง่ของถ้วยรางวัล คือตอนที่เขาคุม ชาลเก้ 04 หลังจากพาราชันสีน้ำเงินคว้าแชมป์เดเอฟแอล ลีก้าโพคาล ในปี 2005 , เดเอฟเบ โพคาล ในฤดูกาล 2010-11 และเดเอฟแอล ซูเปอร์คัพ ในปี 2011

ขณะที่แชมป์รายการอื่นๆที่เหลือ ประกอบไปด้วยอินเตอร์โตโต้ คัพ (ปี 2000) และ บุนเดสลีก้า U-19 (ฤดูกาล 1990-91) กับ สตุ๊ตการ์ต , บุนเดสลีก้า 2 (ฤดูกาล 2001-02) กับ ฮันโนเวอร์ และ Regionalliga Sud (ฤดูกาล 1997-98) กับ เอฟซี อูลม์

 

กฎ 8 วินาที

หนึ่งในวิธีการฝึกซ้อมอันโด่งดังของรังนิก คือเกมที่เรียกว่า “กฎ 8 วินาที” โดยเขาจะสั่งทำนาฬิกาขนาดยักษ์แล้วนำมาติดตั้งไว้ที่สนามซ้อม เพื่อใช้สำหรับเกมสุดโหดนี้ ซึ่งมันจะช่วยยกระดับการเพรสซิ่งให้กับลูกทีม พร้อมทั้งฝึกเด็กๆของเขาให้เอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าวในเวลาเดียวกัน

“เรามีนาฬิกานับถอยหลังที่ทำขึ้นมาเองสำหรับเรา ผู้ช่วยโค้ชจะเปิดใช้งานมัน และนาฬิกาจะเริ่มทำงาน” รังนิก ให้สัมภาษณ์กับ DW

“เราใช้มันสำหรับเกมที่เรียกว่า กฎ 8 วินาที นักเตะจะได้ยินเสียงจับเวลา และรู้ว่าพวกเขาจะต้องแย่งบอลกลับมาให้ได้ภายใน 8 วินาที หรือหากพวกเขาเป็นฝ่ายครอบครองบอล พวกเขาจะต้องยิงประตูให้ได้ภายใน 10 วินาที”

“เสียงจับเวลาอาจทำให้พวกเขาหงุดหงิดในตอนแรก แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้คือการฝึกซ้อมแบบนี้ สามารถส่งผลกระทบต่อนักเตะได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ พวกเขาปรับสไตล์การเล่นของพวกเขา และมันจะกลายเป็นสัญชาตญาณ”

 

บทลงโทษสุดสร้างสรรค์

สำหรับนักฟุตบอลที่มีรายได้มหาศาล การปรับเงินในกรณีที่ทำผิดกฎสโมสรอาจจะไม่ได้สะกิดต่อมความกลัวของพวกเขาสักเท่าไหร่ ทำให้ในช่วงเวลาที่กุมบังเหียน แอร์เบ ไลป์ซิก รอบสอง รังนิก จัดการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการนำวงล้อหมุนที่เขียนบทลงโทษไว้ 12 ข้อ เพื่อสุ่มให้กับนักเตะที่ออกนอกลู่นอกทาง

โดยกฎทั้ง 12 ข้อที่เขียนไว้มีดังนี้

  1. ช่วยสูบลมลูกบอล , ขนลูกบอลลงสนาม , ทำความสะอาดลูกบอล – 30 นาทีต่อครั้ง
  2. ฝึกสอนนักเตะจากทีมอะคาเดมี่ 1 คนในวันว่าง – 4 ชั่วโมง
  3. ทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวชมสนาม , บรรยายแก่แขกที่มาทัวร์สนาม – 1 ชั่วโมง
  4. โชคดี ไม่โดนลงโทษ
  5. ตัดหญ้าและดูแลสนามฝึกซ้อม – 4-6 ชั่วโมง ภายใน 1 สัปดาห์การฝึกซ้อม
  6. สวมชุดสีชมพูหรือชุดบัลเล่ต์ตูตูลงฝึกซ้อม – 90 นาที
  7. ผสมเครื่องดื่มก่อนการฝึกซ้อม , กรอกน้ำใส่ขวด – 20 นาทีต่อครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์
  8. ทำงานในร้านค้าของสโมสรเป็นเวลา 3 ชั่วโมง
  9. เสิร์ฟสลัดในโรงอาหารของทีม , ทำความสะอาดโต๊ะ – 30 นาทีต่อวัน
  10. ดูแลชุดที่สกปรก , ช่วยทำความสะอาดรองเท้า – 30 นาทีต่อวัน
  11. จัดกระเป๋าเดินทางบนรถบัสในวันแข่งขันที่ต้องออกไปเยือน – ประมาณ 1.5 ชั่วโมง
  12. ซื้อของขวัญเล็กๆน้อยๆให้กับพนักงานทั้งหมด 60 คนของไลป์ซิก

 

“ค่าปรับแทบไม่มีผลอะไรเลย” รังนิก บอกกับ Bild “นี่จะทำให้นักเตะเจ็บปวดมากขึ้น ยกตัวอย่างนะ ถ้าพวกเขามีเวลาว่างน้อยลง อย่างเช่นต้องไปทำงาน 3 ชั่วโมงที่ร้านค้าสโมสร”

 

สิ่งที่จะนำมาสู่ปีศาจแดง

รังนิก ถือเป็นต้นตำรับของสไตล์การเล่นที่เรียกว่า “เกเก้นเพรสซิ่ง” หรืออีกชื่อคือ “เคาน์เตอร์เพรสซิ่ง” นี่ถือเป็นพิมพ์เขียวที่ คล็อปป์ นำมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จกับ ลิเวอร์พูล รวมถึงสโมสรก่อนหน้าอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และค่อนข้างแน่นอนว่าแนวทางนี้จะถูกนำมาใส่ให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยเช่นกัน

“ง่ายมาก มันเป็นสไตล์ฟุตบอลที่เน้นเกมรุก คล้ายกับแนวทางที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ ลิเวอร์พูล เล่นภายใต้ คล็อปป์” รังนิก อธิบายถึงหลักการของเกเก้นเพรสซิ่ง

“เราชอบเพรสซิ่งสูง แย่งบอลกลับมาด้วยวิธีที่เข้มข้นที่สุด เมื่อเราได้บอล เราไม่ชอบจ่ายบอลขวางสนาม หรือจ่ายบอลคืนหลัง”

“ผู้รักษาประตูก็ไม่ควรเป็นคนที่สัมผัสบอลมากที่สุดเช่นกัน ในเกือบทุกลีก และทุกประเทศ ผู้รักษาประตูเป็นนักเตะที่มีเทคนิคจำกัดที่สุดในสนาม ดังนั้น เราต้องทำให้แน่ใจว่าเขาจะได้สัมผัสบอลด้วยเท้าน้อยที่สุด”

“มันเป็นฟุตบอลที่รวดเร็ว , เน้นเกมรุก , โจมตี , สวนกลับ , แย่งบอลคืน , น่าตื่นเต้น และเอนเตอร์เทน”

สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้ก็คือ รังนิก จะใช้งานสุดยอดนักเตะที่ไม่สามารถเพรสซิ่งได้อย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ยังไง?

 

บทความที่คุณอาจสนใจ : สมฉายาศาสตราจารย์ : รวม 11 แข้งดังที่ปลุกปั้นโดยฝีมือรังนิค

รังนิก