“พวกเขาพยายามวางยาพิษเรา” จู่ ๆ เสียงตะโกนของ ฟีโอดอร์ เชเรนคอฟ ก็ดังลั่นออกมา และปฏิเสธที่จะทานซุปบนโต๊ะในห้องอาหาร
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมปี 1984 ท่ามกลางเพื่อนร่วมทีม สปาร์ตัก มอสโก ที่ตกตะลึงกับเรื่องนี้ ในขณะที่พวกเขากำลังเตรียมลงเล่นในเกมเลกสองของ ยูฟ่า คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้ายดวลกับ อันเดอร์เลทช์ และจัดแข่งที่ ทบิลีซี เนื่องจากในเมืองหลวงของโซเวียตมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นเกินไป
ทีมจากเบลเยี่ยมคว้าชัยไปได้ก่อน 4-2 ในเกมแรกที่ บรัสเซลส์ แต่ สปาร์ตัก ก็ยังมีโอกาสเพราะนี่คือหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดแห่งยุค แต่ตอนนี้มีสิ่งไม่ปกติเกิดขึ้นกับดาวดังของพวกเขาแล้ว
ช่วง 4 เดือนก่อนหน้านี้ เขาได้ฉายแววเด่นบนเวทียุโรป ด้วยการกดไป 2 ประตู และหนึ่งในนั้นคือประตูชัยนาทีสุดท้ายให้ สปาร์ตัก เฉือนชนะ แอสตัน วิลล่า
จากการรายงานของสื่อในตอนนั้น วิลล่า ประทับใจในฝีเท้าของกองกลางวัย 24 ปี และพยายามจะคว้าตัวไปร่วมทีม แต่พวกเขาก็คงรู้อยู่แล้วว่า โซเวียต คงไม่ปล่อยให้นักเตะในประเทศย้ายออกไป นับประสาอะไรจะยอมปล่อย ยอดแข้งของชาติที่เป็นดั่งบุคลสำคัญให้กับประเทศฝั่งตะวันตก…
สภาพจิตใจไม่ปกติ
ตลอดปี 1983 เป็นดั่งปรากฏการณ์สำหรับ เชเรนคอฟ ไม่มีใครปฏิเสธว่าเขาเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในประเทศ เขาคว้าแข้งยอดเยี่ยมแห่งปีของ โซเวียต แม้ สปาร์ตัก จะคว้าอันดับสองในลีก อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญที่ทีมชาติขาดไม่ได้ หลังกดไป 2 เม็ดในเกมถล่ม โปรตุเกส 5-0 ในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปรอบคัดเลือก
แต่ชื่อเสียงที่โด่งดังก็มาพร้อมกับแรงกดดันที่มากขึ้นกว่าเดิม
“ภาระทางจิตใจของเขาอาจจะหนักเกินไป” เซอร์เกย์ โรดิโอนอฟ ดาวยิงของสปาร์ตักในยุค 80 และเพื่อนสนิทของ เชเรนคอฟ กล่าว
เหล่าพยานผู้พบเห็นเหตุการณ์อันน่ากลัวใน ทบิลีซี ไม่อยากเอ่ยถึงมันนัก เนื่องจากตอนนั้น เขาเจอทั้งภาพหลอน, จินตนาการถึงเรื่องร้ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือพยายามแม้กระทั่งกระโดดออกจากหน้าต่างโรงแรม
คอนสแตนติน เบสคอฟ รู้ดีว่าดาวเตะเบอร์หนึ่งของทีมคงลงเล่นในเกมพบกับ อันเดอร์เลทช์ ไม่ได้แน่ ขณะที่ ดาวเตะของโซเวียต กลับไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงโดนดร็อป
โรดิโอนอฟ ยิงประตูช่วยให้ทีมชนะ 1-0 แต่ก็ไม่เพียงพอพาให้ สปาร์ตัก ผลิกสถานการณ์ และตกรอบด้วยสกอร์รวม 4-3 แต่ความพ่ายแพ้กลับสิ่งสุดท้ายที่ผู้เล่นนึกถึงในตอนนั้น
สุขภาพของ เขาสร้างความกังวลให้พวกเขา ทันทีที่กลับมา มอสโก เขาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว และกลับมาลงเล่นได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน
จากทนทุกข์จากเรื่องอะไร? ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน และการเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ก็ส่งผลต่ออาชีพค้าแข้ง และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเจ้าตัวจนวาระสุดท้าย
“ฟีโอดอร์มีช่วงเวลาที่ซึมเศร้าและเครียด แต่เราไม่เคยเข้าใจธรรมชาติของปัญหาเหล่านั้นอย่างถ่องแท้เลย ไม่สามารถวินิจฉัยแข้งอัจฉริยะได้ เราทำได้แค่เดาเท่านั้น” โรดิโอนอฟ กล่าว
อัจฉริยะผู้ถ่อมตน
คำว่า ‘อัจฉริยะ’ ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยคนที่ได้ยลฝีเท้าของ เชเรนคอฟ และโดยเฉพาะเหล่าคนที่โชคดีพอที่ได้เป็นเพื่อนร่วมทีมของเขา
“เขาเป็นอัจฉริยะไม่กี่คนที่สามารถเลี้ยงบอล, จ่าย และ ยิงประตูได้” วากิซ คิดิยาตูลลิน อดีตกองหลัง สปาร์ตัก และทีมสหภาพโซเวียต กล่าว
“การเล่นของเขาเป็นดั่งศิลปะ ทุก ๆ การเคลื่อนไหว เขาทำให้มันง่ายสำหรับเพื่อนร่วมทีม และยากขึ้นสำหรับคู่แข่ง มันสมองของเขาไม่ธรรมดา”
ไม่แปลกที่ เขาจะเป็นที่รักของแฟนบอลสปาร์ตัก อีกทั้งเหมาะสมสุด ๆ กับสไตล์การเล่นและต่อบอลสั้นที่มีความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแผนที่ เบสคอฟ ใช้กับทีม
สปาร์ตัก คว้าแชมป์ลีกในฤดูกาลแรกที่ ยอดแข้งจากโซเวียต เล่นเป็นตัวหลักในปี 1979 นับตั้งแต่นั้น เขาก็สร้างนิยามกับทีม และเหล่าแฟนบอลก็ยกย่องเขามากเหนือใครในทีม
นอกจากนี้ ด้วยเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร ก็ทำให้แฟนบอลที่ชิงชัง สปาร์ตัก กลับชื่นชอบและชื่นชมในตัวของเขาอีกด้วย และ เขาเป็นที่รู้จักในฉายา ‘นักฟุตบอลของประชาชน’ และได้รับความนิยมไปทั่วทุกหนแห่งในสหภาพโซเวียต
ความจิตใจดี, ใจกว้าง, อ่อนน้อม และ เขินอาย ดูไม่เหมาะกับรูปแบบของสตาร์ดังในวงการฟุตบอลเลย แต่จริง ๆ แล้ว เจ้าตัวก็ไม่เคยรู้สึกว่าตนเองโดดเด่นเหนือใคร
“ฟีโอดอร์ มักสงสัยเสมอว่า ‘ทำไมเป็นผมล่ะ? ทำไมพวกเขาตะโกนเรียกชื่อผม? ทำไมพวกเขาถึงชอบผมมากขนาดนั้น?’ เขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเขามีเป็นที่นิยม” เซอร์เกย์ ชาฟโล อดีตเพื่อนร่วมทีมอีกคน กล่าว
เชเรนคอฟ ดูเหมือนเป็นคนธรรมดาที่เพิ่งได้ดิบได้ดีในวงการฟุตบอล เขาเป็นคนที่เข้าถึงง่าย อ่อนโยน ไม่เคยปฏิเสธการถ่ายรูปหรือขอลายเซ็นเลย ชอบให้ของขวัญแก่คนในครอบครัวและเพื่อน ๆ รวมไปถึงเพื่อนบ้าน และคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก
โด่งดังแต่ในบ้านเกิด
เขาถูกยกย่องให้เป็นแข้งที่ดีสุดของ โซเวียตในทศวรรษ และคว้าได้ติดทีมชาติไปลุยฟุตบอลทั้ง 3 ครั้งในปี 1982, 1986 และ 1990 แต่ไม่มีโอกาสเลย รวมถึงศึกยูโรในปี 1988 นั่นจึงทำให้ชื่อของ เชเรนคอฟ ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือโด่งดังนอกบ้านเกิดเลย
อะไรกันคือเหตุผลที่ทำให้เขาหลุดจากทีมชาติ? เพราะอาการป่วยหรือ? ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่มีใครรู้ และ โรดิโอนอฟ ก็ไม่ขอพูดถึงเรื่องนี้ แต่ในปี 1982 คงไม่เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของเขาแน่นอน
ในช่วงเริ่มต้นอาชีพ เขาได้ฉายแววสดใสในทีมชาติ ด่วยวัย 20 ปี เขาทำประตูให้ทีมเอาชนะ บราซิล 2-1 ในปี 1980 ในสนามมาราคาน่า และแฟนบอลแซมบ้าหลายคนก็ประทับใจฝีเท้าของเขา และดูเหมือนว่า แข้อัจฉริยะจะถูกกำหนดให้โด่งดังในระดับโลก
ทีมสหภาพโซเวียตในปี 1982 มีโค้ชอยู่ 3 คนในทีม หนึ่งในนั้นคือ เบสคอฟ กุนซือของ สปาร์ตัก และอาจารย์ของ เชเรนคอฟ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเขาจะดึงแข้งคนโปรดมาร่วมทีม แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น
หลังจากฟื้นตัวจากอาการทางจิตครั้งแรกในปี 1984 เขาก็กลายเป็นกำลังสำคัญในแผนลุยฟุตบอลโลกที่เม็กซิโกในปี 1986 ของโซเวียต แต่ก็เผชิญกับอาการป่วยอีกครั้งในช่วงที่เข้าแคมป์ฝึกซ้อม ณ แดนจังโก้
เอดูอาร์ มาโลเฟเยฟ กุนซือของทีมถูกแทนที่ตำแหน่งโดย วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ ก่อนเริ่มทัวร์เนาเม้นต์ ไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งชัดเจนว่าเขาต้องการใช้แข้งจาก ดินาโม เคียฟ สโมสรที่เขาคุมเป็นหลักในศึกนี้
ดาวเตะ สปาร์ตก อาจปรับตัวเขากับทีมได้ แต่กุนซือของ เคียฟ กลับมีอีกไอเดีย และ โรดิโอนอฟ เชื่อว่า สภาพจิตใจที่ไม่ปกติของเขาเอง อาจเสี่ยงต่อการเล่นของทีมในสายตาของ โลบานอฟสกี้
“มันเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยาวนานและการฝึกซ้อมของ โลบานอฟสกี้ ก็เข้มข้นมาก ระดับความสูงเหนือน้ำทะเลอที่เม็กซิโกก็ยู่ในระดับสูงและนั่นอาจมีความสำคัญ บางที โลบานอฟสกี้ อาจไม่ต้องการเสี่ยง” โรดิโอนอฟ กล่าว
แต่กับ สปาร์ตัก เชเรนคอฟ ก็ยังคงความสุดยอดต่อไป ด้วยการคว้าดับเบิ้ลแชมป์ในปี 1987 ก่อนคว้าแชมป์ลีกอีกครั้งในปี 1989 พร้อมถูกโหวดให้เป็นนักเตะยอดเยี่ยมของฤดูกาล
ในวัย 30 ปี ฟุตบอลโลกที่ อิตาลี ในปี 1990 คือโอกาสสุดท้ายที่เขาจะได้ฉายแสงในเวทีระดับโลก แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ โลบานอฟสกี้ ไม่เลือกเขาติดทีมชาติ และนั่นกลายเป็นที่ปีที่เงียบงันที่สุดของตำนานแข้งจาก โซเวียต
นั่นเป็นปีที่ เขาเลือกย้ายไปเสี่ยงโชคในต่างแดน หลังโซเวียตกำลังล้มสลาย และม่านเหล็กได้พังลงมา โดยย้ายไปพร้อมกับ โรดิโอนอฟ เพื่อนซี้ในสปาร์ตัก แต่พวกเขาก็เข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในมอสโก
แม้ได้รับข้อเสนอมากมาย แต่มีเพียง เร้ด สตาร์ สโมสรจากลีกดิวิชั่น 2 ของฝรั่งเศส ที่ตกลงเซ็นทั้งคู่ร่วมทีม ซึ่งดูไม่เข้ากับฝีเท้าระดับอัจฉิยะเลย แต่ปัญหาด้านจิตใจก็ทำให้ เชเรคอฟ รับมือไม่ไหว และกลับมาบ้านเกิดก่อนกำหนด
แม้ตัวจากไปยังอยู่ในเสมอ
ช่วงบั้นปลายอาชีพค้าแข้ง เขากลับมาโดดเด่นอีกครั้งกับ สปาร์ตัก ในปี 1991 และ 1993 แต่ตลอดปี 1992 เขาไม่ได้สัมผัสลูกบอลเลย เนื่องจากอาการป่วย
เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาฟิตสมบูรณ์ แฟน ๆ ก็พร้อมเข้ามาชมฝีเท้าของเขาด้วยรอยยิ้ม และยังเป็น ‘นักฟุตบอลของประชาชน’ ต่อไป แม้จะแขวนสตั๊ดในปี 1994
เมื่อไม่มีฟุตบอล เจ้าของฉายา ‘นักฟุตบอลประชาชน’ ก็หายไปจากชีวิตสาธารณะ เขาต่อสู้กับความเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอาการเหล่านั้นพยายามพรากชีวิตเขาไปหลายหน
ความรักของสาธารณชนที่มีต่อเขาเป็นที่ประจักษ์ให้ทั่วโลกเห็น เมื่อเขาเสียชีวิตในเดือนตุลาคม ปี 2014 ด้วยวัย 55 ปี หลังหมดสตินอกบ้านพักและประกาศว่าเสียชีวิตไม่นานหลังจากมาถึงโรงพยาบาลมอสโก โดยจากการชันสูตรพลิกศพพบว่าเขามีอาการเนื้องอกในสมอง
ผู้คนหลายหมื่นเดินทางไปร่วมไว้อาลัยในงานศพของเขา ไม่เพียงแต่แฟนบอลของ สปาร์ตัก เท่านั้น แต่ยังรวมไปแฟนบอลทีมคู่แข่งทั้ง เซนิต เซนต์ ปีเตอร์เบิร์ก, ซีเอสเคเอ มอสโก หรือ ดินาโม เคียฟ
เชอเรนคอฟ เป็นมากกว่าดาวดังในวงการฟุตบอล เขาเป็นดั่งสัญลักษณ์ในช่วงเวลาของเขา ไม่มีนักเตะคนไหนที่ได้รับการยกย่องเท่านี้ แม้แต่ตัวของ เลฟ ยาซิน นายทวารระดับตำนานของโซเวียตที่เคยคว้าบัลลงดอร์ ก็ตาม
โรดิโอนอฟ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ฟีโอดอร์ ยังคงอยู่ในใจของผู้คน เขาให้แสงสว่างแก่ผู้คน และแสงเหล่านั้นก็กลับคืนมาสู่เขา”
“เขาสนุกกับการเล่นฟุตบอล แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทกุ ๆ การสัมผัสบอลคือยาที่ดีที่สุดสำหรับเขา เขาคืออัจฉริยะที่มีชะตากรรมอันน่าเศร้าเพียงเท่านั้น”