แม้ว่าหลายสโมสรพยายามเต็มที่เพื่อฝ่าด่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในศึกแชมเปี้ยนส์ลีกตลอดหลายฤดูกาลที่ผ่านมา แต่ทว่าฝ่ายเข้าไปชิงชัยก็ยังเป็นสโมสรใหญ่ๆจาก อังกฤษ, สเปน, เยอรมัน และ อิตาลี อยู่เหมือนเดิม
หากจะหาทีมม้ามืดจริงๆ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2004 โดยเป็นการชิงชัยระหว่าง โมนาโก จากฝรั่งเศส และ ปอร์โต้ จาก โปรตุเกส ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่สโมสรที่ไม่ได้อยู่ใน 4 ลีกท็อปของทวีปเข้ามาถึงในรอบนี้
อย่างไรก็ตาม รายการฟุตบอลของทวีปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง แชมเปี้ยนส์ลีก ก็เคยเปิดโอกาสให้ทีมนอกสายตาเข้ามาโชว์ฝีเท้าในรอบชิงอยู่บ่อยครั้ง และนี่คือ 7 ทีมเล็กในยุโรปที่มีโอกาสเข้าไปคว้าถ้วยบิ๊กเอียร์ในรายการนี้
ไรมส์ (1956, 1959)
ด้วยปัญหาทางการเงินที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง, ทำให้ ไรมส์ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ในลีกระดับ 2 และ 3 ของวงการลูกหนังเมืองน้ำหอมในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา
แต่ในช่วงยุคทองของพวกเขาที่มีนักเตะในทีมอย่าง เรย์มองต์ โคป้า, ฌอง แวงซองต์ และ จัสต์ ฟองแตงค์ ทำให้ไรมส์เป็นยอดทีมอันดับต้นๆในยุคหลังสงครามและคว้าแชมป์ลีกเอิงได้ถึง 6 สมัยในตอนนั้น
นอกจากนี้ ทีมจากฝรั่งเศสยังเคยเข้าชิงยูโรเปี้ยน คัพ ในปี 1956 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกด้วย และสู้กับทีมเรอัล มาดริด ที่มี อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ ได้อย่างสูสี ก่อนจะพ่ายไปอย่างน่าเจ็บใจ 4-3 ณ สนาม ปาร์ค เดอ แพรงส์ ต่อจากนั้นในปี 1959 ไรมส์ก็โอกาสเข้าชิงอีกครั้ง แต่ก็แพ้ให้กับ’ราชันชุดขาว’ ทีมเดิมไปด้วยสกอร์ 2-0
ปาร์ติซาน เบลเกรด (1966)
38 ปีก่อนหน้านี้ เร้ดสตาร์ เบลเกรด คือตัวแทนของประเทศยูโกสลาเวียที่ได้เข้าชิงยูโรเปี้ยน คัพ เป็นทีมสุดท้าย และเป็นทีมแรกในประเทศที่คว้าถ้วยรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาครอง
แต่ย้อนกลับไปในปี 1966 ปาร์ติซาน เบลเกรด คือทีมแรกของประเทศที่มีโอกาสเข้าชิงในรายการนี้ ซึ่งพวกเขาก็เป็นฝ่ายออกนำไปก่อนจากความผิดพลาดของ เวลิบอร์ วาโซวิช นายทวารระดับตำนานของมาดริด อย่างไรก็ตาม ‘โลส บลังโกส’ ก็มาได้ 2 ประตูรวด จาก อมานซิโอ้ และ เฟร์นานโด เซเรน่า ในอีก 20 นาทีต่อมา ช่วยให้ยอดทีมจากสเปนคว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่ 6
หลังจากนั้นไม่นาน ผู้เล่นตัวหลักในปาติซานก็ย้ายไปค้าแข้งให้ทีมดังๆในยุโรปเกือบหมด ทำให้ทีมต้องเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่และใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง
พานาธิไนกอส (1971)
กรีซคือหนึ่งในทีมชาติที่ทำเรื่องสุดช็อคมากที่สุดในฟุตบอลทวีปเมื่อปี 2004 และสโมสรในประเทศของพวกเขาก็เกือบสร้างปาฏิหารย์ได้คล้ายๆกันในปี 1971
พานาธิไนกอส คือสโมสรจากแดนเทพนิยายทีมเดียวที่มีโอกาสเข้าถึงรอบชิงฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ โดยพวกเขาเอาชนะคู่แข่งสุดแกร่งในรอบต่างๆได้ ทั้ง จูเนส เอช, สโลวาน บราติสลาวา, เอฟเวอร์ตัน และ เร้ดสตาร์ เบลเกรด ก่อนจะไปพบกับ อาแจ็กซ์ ในนัดที่สุดท้ายที่เวมบลีย์
น่าเศร้าที่ทีมของ เฟเรนซ์ ปุสกัส ไม่สามารถต้านความยอดเยี่ยมของ อาแจ็กซ์ ที่มี โยฮัน ครัฟฟ์ ช่วงพีกได้เลย ซึ่งเพลย์เมกเกอร์ชาวดัชต์ช่วยให้ต้นสังกัดของเขาคว้าแชมป์นี้เป็นสมัยแรก ก่อนจะคว้าถ้วยบิ๊กเอียร์ 2 ปีติด ในอีก 2 ปีต่อมา
แซงต์ เอเตียนน์ (1976)
ณ ช่วงเวลานั้น แซงต์ เอเตียนน์ เป็นสโมสรตัวเต็งอันดับต้นๆที่มีโอกาสคว้าแชมป์ลีกเอิงอยู่เสมอ แถมฤดูกาล 1975-76 พวกเขาก็โชว์ฟอร์มได้อย่างสุดยอดในฟุตบอลยุโรปจนผ่านด่านเข้าไปเจอกับ บาเยิร์น มิวนิค ยอดทีมจากเยอรมัน
‘เสือใต้’ ที่เข้าชิงในปันั้นก็เป็นทีมที่แข็งแกร่งไม่ต่างอะไรกับในปัจจุบัน โดยพวกเขามีทั้งยอดนักเตะแห่งยุคอย่าง คาร์ล ไฮนซ์-รุมมินิเก้, แกรด มูลเลอร์, ฟรานซ์ เบคเค่นบาวเออร์, อูลี่ เฮอร์เนส และ เซปป์ ไมเออร์ แต่เอเตียนก็ต้านเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม มิวนิคก็มาเร่งเครื่องในครึ่งหลัง ก่อนจะได้ประตูชัยจาก ฟรานซ์ ร็อธ ในนาทีที่ 57 ทำให้ผู้เล่นของ แซงต์ เอเตียนน์ ร่ำไห้ด้วยความผิดหวังหลังจบเกม แต่ถึงแม้จะพ่ายแพ้มาก็ตาม บรรดากองเชียร์ก็ไม่ได้กล่าวโทษนักเตะของเอเตียนแต่อย่างใด กลับกันพวกเขาต่างยกย่องสรรสเสริญแข้งทีมรักดั่งวีรบุรุษในฝรั่งเศสด้วยซ้ำไป
คลับ บรูช (1978)
คลับ บรูชอาจจะไปไม่ได้ไกลไปกว่ารอบแบ่งกลุ่มใน 12 ฤดูกาลของศึกแชมเปี้ยนส์ลีกหลังสุด แต่ทีมจากเบลเยี่ยมก็ไปได้ไกลกว่าหลายๆสโมสรในรายการนี้ในสมัยที่ยังใช้ชื่อเก่าเป็น ยูโรเปี้ยน คัพ
หลังจากผิดหวังตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายในปีที่ผ่านมา ลูกทีมของ เอร์เนส ฮาร์เปล เอาชนะตัวเต็งในรายการนี้อย่าง พานาธิไนกอส, แอตเลติโก้ มาดริด และ ยูเวนตุส เพื่อมาวัดในรอบชิงกับ ลิเวอร์พูลในปี 1978
แต่คลับ บรูซ ก็ต้องอกหักไม่ต่างจากนัดชิง ยูฟ่า คัพ เมื่อ 2 ฤดูกาลก่อน หลังพ่ายให้กับทีมของ บ็อบ เพสลีย์ จากประตูโทนของ เคนนี่ ดัลกริช ณ สนามเวมบลีย์
มัลโม่ (1979)
แฟนบอลน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ไม่มีทางลืมทีมจากสวีเดนทีมนี้แน่นอน เนื่องจากมัลโม่เป็นทีมแรกที่พวกเขาได้เผชิญหน้ากันในนัดชิงยูโรเปี้ยน คัพปี 1979 ก่อนที่ทีม ‘เจ้าป่า’ จะเป็นฝ่ายคว้าชัยไปได้ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม เกมสุดท้ายในสนามโอลิมปิคสตาดิโอนที่เมืองมิวนิคไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ใครคิด เนื่องจากอดีตกุนซือของทีมเมดสโตน ยูไนเต็ด บ็อบ ฮิวจ์ตัน ตั้งรับได้อย่างเหนี่ยวแน่นจนตัวแทนจากอังกฤษรับมือได้ลำบาก
มีแค่ลูกโหม่งของ เทรเวอร์ ฟรานซิส เจ้าของสถิติค่าตัว 1 ล้านปอนด์ เท่านั้นที่เป็นประตู โดยเกิดขึ้นในช่วงทดเวลาบาดเจ็บของครึ่งแรกในเกมนัดชิงวันนั้น แต่ว่ามันก็เพียงพอที่ส่งให้ทีม ‘เจ้าป่า’ เป็นแชมป์ในบั้นปลายของฤดูกาลนั้นอยู่ดี
ซามพ์โดเรีย (1992)
‘ลา ซามพ์’ ถือว่าเป็นทีมที่เซอร์ไพรส์แฟนบอลในอิตาลีพอสมควรเลย หลังเบียดเอซี มิลาน และคว้าแชมป์เซเรียอาไปเป็นสมัยแรกในปี 1990-91 และในปีถัดมาพวกเขาก็ประกาศศักดิ์ดาไปทั่วยุโรปด้วยการเข้าชิงยูโรเปี้ยน คัพ กับ บาร์เซโลน่า ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะใช้ชื่อนี้
ด้วยสไตล์การเล่นเกมรับแบบเขี้ยวลากดินทำให้ซามพ์โดเรียสามารถผ่านเข้ารอบชิงดำได้แบบไม่มีใครคาดคิด และทำเอาลูกทีมของ โยฮัน ครัฟฟ์ ลำบากอยู่ไม่น้อย จนการแข่งขันในวันนั้นต้องยืดเยื้อได้ถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ
อย่างไรก็ตาม สาวก ‘อาซูลกราน่า’ ต้องขอบคุณลูกยิงฟรีคิกของโรนัลด์ คูมัน ที่ช่วยให้บาร์ซ่าเอาชนะและคว้าถ้วยยุโรปสมัยแรกไปครองได้ ก่อนที่การแข่งขันนี้จะเปลี่ยนชื่อไปเป็นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อย่างเป็นทางการในฤดูกาลต่อมา หลังจากใช้ชื่อยูโรเปี้ยน คัพมานานกว่า 36 ปี