หลังชัยชนะเหนือ เดนมาร์ก 2-1 ช่วงต่อเวลาพิเศษของ อังกฤษ ในรอบตัดเชือกศึกยูโร 2020 เพลง Sweet Caroline ของนีล ไดมอนด์ ที่ถูกขับร้องจากแฟนผู้ดีดังลั่นทั่วสนามเวมบลี่ย์
บทเพลงสุดฮิตของศิลปินชื่อก้องจากอเมริกา กลายเป็นเพลงเชียร์ยอดนิยมของแฟนกีฬาในอังกฤษตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่แค่กีฬาลูกหนังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง รักบี้ลีก,คริกเก็ต หรือแม้กระทั่ง ปาลูกดอก
เชื่อว่าหลายคนแปลกใจไม่น้อยว่าบทเพลงจากอีกซีกทวีปของโลก กลับกลายเป็นเพลงเชียร์ปลุกใจในการแข่งขันของแฟนบอลหรือแฟนกีฬาอื่นๆในอังกฤษได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ UFA ARENA จึงขออาสาพาไปย้อนทำความรู้จักกับบทเพลงสุดคลาสสิค ที่มาที่ไป และจุดเริ่มต้นที่ทำให้มันกลายเป็นเพลงสุดฮิตของแฟนบอลอังกฤษในยูโร 2020
บทเพลงอมตะ
หากใครที่ชื่นชอบเพลงสากลต้องรู้จักหรือคุ้นเคยกับ นีล ไดมอนด์ เป็นอย่างดี ในฐานะศิลปินและนักแต่งเพลงชื่อดังจากยุค 60 เจ้าของเพลงฮิตมากมายที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านแผ่นทั่วโลก จากสตูดิโออัลบั้ม 34 ชุด ทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักดนตรีที่ขายดีที่สุดตลอดกาล
ในบรรดาบทเพลงฮิตมากมาย เพลงที่หลายๆคนยกให้เป็นเบอร์หนึ่งที่เปรียบดั่งลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ของ ไดมอนด์ คงหนีไม่พ้น Sweet Caroline อย่างแน่นอน
บทเพลงนี้ถูกปล่อยออกสู่สาธารณะครั้งแรกในวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1969 โดยมีชื่อเต็มๆว่า “Sweet Caroline (Good Times Never Seemed So Good) ซึ่งความหมายของเพลงก็ไม่ต่างเพลงรักหวานละมุนตามสูตรทั่วไป แต่ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ กับท่อนฮุคที่ติดหู ทำให้มันกลายเป็นเพลงประจำตัวของ ศิลปินวัย 80 ปี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ไดมอนด์ เผยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงฮิตดังกล่าวในปี 2007 กับ The Guardian สื่อดังในอังกฤษ ว่ามาจาก แคโรไลน์ เคเนดี้ ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี้ ที่เห็นรูปของเธอในวัย 9 ขวบบนนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนเพลงดังกล่าว
แน่นอนว่านี่เป็นเพลงที่ทำนองไพเราะ พร้อมจังหวะที่สนุกสนาน ฟังแค่ครั้งเดียวก็สามารถร้องตามได้ทันที ทว่ามันกลายเป็นที่นิยมในการเชียร์กีฬาไปได้อย่างไร ทั้งๆที่เนื้อหาเพลงพูดถึงเพียงความรักที่มีต่อหญิงสาวนามว่า แคโรไลน์ เท่านั้น
จุดเริ่มจากเบสบอล
นับตั้งแต่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เพลงนี้ถูกเปิดในสนามกีฬาครั้งแรกในเกม เมเจอร์ลีก เบสบอล ณ เฟนเวย์ ปาร์ค รั้งเหย้าของทีม บอสตัน เร้ดซ็อก ในปี 1997 และถูกเปิดในช่วงอินนิ่งที่ 8 ของทุก ๆ เกมตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาจนกลายเป็นประเพณีของทีมในเวลาต่อมา
ถ้าหากใครได้ฟังบทเพลงนี้แล้วคงจะเข้าใจทันทีว่าทำไมถึงถูกนำมาร้องเชียร์ในกีฬา โดยเหตุผลหลักๆน่าจะเป็นท่อนฮุคกับ “Sweet Caroline” ที่ตามมาด้วยเสียงทรัมเป็ตทำนองสุดติดหู “ป๊าม ปาม ป่าม”
หรืออีกท่อนต่อมาอย่าง “Good times never seemed so good,” ที่แฟนก็จะร้องต่อทันทีว่า “So good, so good, so good.” เหมือนกับเพลงไทยที่มีท่อนให้ทุกคนเฮตามได้
หลังจากนั้น ความนิยมของเพลงนี้ในการเชียร์กีฬาที่ สหรัฐอเมริกา ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเพลงหลักที่สนามกีฬาต่างๆต้องนำใช้เปิดในการแข่งขัน ทั้งก่อน, ระหว่างแข่ง หรือหลังเกม
อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่า แคนาดา ก็หยิบยกเพลงนี้ไปใช้เช่นกัน กับ เอรี่ อ็อตเตอร์ส ทีมฮอคกี้ กับเกมเหย้าใน ออนตาริโอ ฮอกกี้ลีก ซึ่งแฟนมีการแปลงเนื้อเล็กน้อยกับท่อนทรัมเป็ตเป็น “London sucks” เพื่อเยาะเย้ย ลอนดอน ไนท์ส ทีมคู่อริ นั่นเอง
แต่แล้ว Sweet Caoline กลับเข้าไปในการเชียร์กีฬาของชาวอังกฤษมีที่พฤติกรรมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสุดขั้วได้อย่างไร
รักบี้ผู้ดีปูทาง
แม้ว่าเพลงนี้เคยถูกนำมาใช้ในฟุตบอลอังกฤษมาก่อนแล้วในช่วงที่ เร้ดดิ้ง เลื่อนชั้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกครั้งแรก ฤดูกาล 2006-07 แต่ก็ต้องรอถึงปี 2015 กว่าที่เพลงนี้จะกลับมาได้รับความนิยมจากแฟน ‘เดอะ รอยัลส์’ แบบจริงจังอีกครั้ง
และจุดเริ่มที่ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมจากกองเชียร์แดนผู้ดี ต้องย้อนกลับไปในวันที่ 20 เมษายน ปี 2013 นีล ไดมอนด์ ได้กลับไปร้องเพลงประจำตัวของเขาอีกครั้งใน เฟนเวย์ ปาร์ค หลังเกิดเหตุการณ์วางระเบิดที่ บอสตัน มาราธอน
ณ เวลานั้นเอง เคสเซิลฟอร์ด ไทเกอร์ส สโมสรรักบี้ในอังกฤษ เพิ่งทำการแต่งตั้ง ดาร์ริล พาวล์ เข้ามาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ และ สตีฟ กิล ผู้บริหารทีมซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของศิลปินแดนมะกัน ก็รับรู้ถึงปฏิกิริยาของฝูงชนที่มีต่อเพลงนั้นในอเมริกา จึงทำการเปิดเพลง ป็อปร็อคสุดฮิต ร่วมกับ ‘Delilah’ ของทอม โจนส์ และ ‘Wonderwall’ ของโอเอซิส หลังเกมเพื่อดูผลตอบรับของแฟนๆ
กลับกลายเป็นว่า เพลงฮิตติดตลาดในแดนลุงแซมได้รับปฏิกิริยาจากแฟนในสนามมากที่สุดเหนือ 2 เพลงจากศิลปินจากสหราชอาณาจักร และจากคำบอกเล่าของ ทอม แม็คไกวร์ ผู้จัดการด้านสื่อของทีม เผยว่าเพลงนี้ถูกแบบเต็มๆเปิดครั้งแรกตอนที่ ลุค ดอร์น ฟูลแบ็คของทีมทำแต้มได้ในนาทีสุดท้าย และเกมเอาชนะวีแกนในเดือน มีนาคมปี 2014
ไม่ว่าเพราะเหตุบังเอิญหรือไม่ นับตั้งแต่นั้นเพลงนี้กลายเป็นเพลงนำโชคของ คาสเซิลฟอร์ด เรื่อยมา ภายใต้การคุมทีมของ พาวล์ เข้าชิงชาแลนจ์ คัพ ในปี 2014 พร้อมพาทีมคว้าอันดับหนึ่งของลีกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 91 ปีของทีม และเข้าชิงแกรนด์ ไฟนอล ในปี 2017
จากนั้น สโมสรฟุตบอลก็เริ่มเอาเพลงนี้มาใช้มากขึ้น เช่น แอสตัน วิลล่า ช่วงที่ไม่แพ้ใคร 12 นัดในแชมเปี้ยนส์ชิพ ฤดูกาล 2018-19 จนเข้าไปเพลย์ออฟเลื่อนชั้นขึ้นมาพรีเมียร์ลีกสำเร็จ หรือรอดตกชั้นในฤดูกาล 2019-20 ด้วย
เพลงเชียร์สุดฮิตของแฟนสิงโต
อย่างไรก็ดี ตามธรรมเนียมปกติแล้วบทเพลงดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ แต่หลังจากที่ โทนี่ แพร์รี่ ดีเจประจำสนามเวมบลี่ย์ เลือกเปิดเพลงนี้เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดในเกมที่เอาชนะ เยอรมัน 2-0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ก็ถูกแฟนบอลแดนผู้ดีนำมาขับร้องในสนามเรื่อยมา
“คุณไม่สามารถต้านทาน นีล ไดมอนด์ ได้เลยแม้แต่นิดเดียว” แกเร็ธ เซาธ์เกต นายใหญ่ทีม ‘สิงโตคำราม’ ผู้เป็นแฟนตัวยงของ ศิลปินชาวอเมริกัน กล่าวหลังเกมนั้น
“มันเป็นเพลงที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ซึ่งนั้นทำให้ผู้คนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน”
เช่นเดียวกับ แฮร์รี่ เคน กัปตันทีม ที่ถึงกับหยุดฟังเสียงเพลงนั้นจากแฟนชั่วครู่เลย “ใช่ มันพิเศษมาก ผมพูดไม่ออกเลย ไม่รู้จะบอกอย่างไรดี”
หลังเกมเฉือน โคนม 2-1 ในรอบตัดเชือก แข้งทีมชาติอังกฤษ ก็เป็นผู้นำแฟนบอลร้องเพลงนี้จนดั่งกึกก้องไปทั่วสนามเวมบลี่ย์
เชื่อว่าแฟนบอลแดนผู้ดีจะนึกถึงเนื้อท่อนหนึ่งของเพลงที่กล่าวว่า “good times never seemed so good” (เวลาดีๆก่อนหน้านี้คงไม่ดูดีเหมือนปัจจุบัน) หากว่าทีมบ้านเกิดสามารถคว้าแชมป์ยูโรสมัยแรกมาครองได้เหนือ อิตาลี ในคืนวันอาทิตย์นี้
และที่สำคัญ Sweet Caroline จะกลายเป็นบทเพลงประวัติศาสตร์ที่จารึกอยู่ในความทรงจำของแฟนบอลอังกฤษไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน