ทันทีที่นักฟุตบอลส่วนใหญ่บนโลกใบนี้แขวนสตั๊ด พวกเขามักจะมีแนวโน้มหรือเลือกหันเหไปทางด้านงานฝึกสอนทีมฟุตบอล, บอร์ดบริหาร หรือไม่ก็กูรูลูกหนังทางโทรทัศน์แทน
แต่ก็มีนักเตะบางส่วนที่เลือกหนทางที่แตกต่างจากคนทั่วไป นั่นก็คือการหันไปมีบทบาททางการเมืองแทน แม้จะมีจำนวนไม่มาก และอาจไม่ได้เข้ามาเยอะเหมือนทหารบางประเทศก็ตาม
แม้ทั้งสองอาชีพนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การที่ดาวเตะชื่อดังหรือนักฟุตบอลทั่วไปจะมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางแห่งอาชีพสายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดในสายตาแฟนบอลอีกต่อไป
และนี่คือ 8 แข้งดังที่เลือกไปอยู่ในเส้นทางสายดังกล่าวแทนวงการลูกหนัง แต่พวกเขาจะประสบความสำเร็จในเส้นทางใหม่หรือไม่ ไปหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
จอร์จ เวอาห์
นี่คือนักฟุตบอลที่ขึ้นไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดบนเส้นทางการเมืองได้ จอร์จ เวอาห์ อดีตแข้งทีมชาติไลบีเรีย เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ปี 1995 และเคยค้าแข้งกับทีมดังมากมายไม่ว่าจะเป็น เอซี มิลาน, เปแอชเช, โมนาโก และ เชลซี ก่อนจะแขวนสตั๊ดไปในปี 2003
ในปี 2005 เวอาห์ได้ตัดสินใจเข้าลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทันที แต่ด้วยระดับการศึกษาที่ไม่สูงพอ ทำให้เขาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ก่อนจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาที่อเมริกา เพื่อกลับมาสู้ในศึกสายนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้ง
แม้ตัวเขาจะล้มเหลวในการเข้าชิงตำแหน่งผู้นำประเทศไลบีเรียอีกครั้งในปี 2014 แต่ความพยายามของเขาก็เห็นผลมากขึ้นหลังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของประเทศ และในการลงเลือกตั้งครั้งที่ 3 เวอาห์ก็ไปยืนอยู่บนจุดสูดของเส้นนี้ได้สำเร็จ หลังชนะการเลือกตั้งและได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 30 ของประเทศในเดือนมกราคมปี 2018
อังเดร เชฟเชนโก้
อดีตกองหน้าของเอซี มิลาน และ เชลซีที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกองหน้าที่ดีที่สุดตลอดกาล และประสบความสำเร็จในระดับสโมสรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เซเรียอา, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, โคปา อิตาเลีย รวมไปถึงผู้เล่นยอดเยี่ยมที่สุดของยุโรปอย่าง บัลลงดอร์ในปี 2003 ด้วย
ในเส้นทางการเมืองนั้น เชว่าได้เข้ามาอยู่กับพรรค ยูเครน ฟอร์เวิร์ด ในปี 2012 หรือทันทีที่เขาแขวนสตั๊ด และได้เข้ามาเป็นอันดับสองในรายชื่อพรรคที่เข้ามาเลือกตั้งเพื่อตำแหน่งในรัฐสภาของประเทศ แต่ทว่าตัวเขาและพรรคได้คะแนนโหวตจากคนในประเทศแค่ 1.58 เปอร์เซนต์เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเข้ามาเป็นตัวแทนในรัฐสภาได้
อย่างไรก็ตาม นั่นทำให้เขาตาสว่างอีกครั้ง และรู้ว่าเส้นทางวงการลูกหนังคือสิ่งที่เหมาะสมกับเขามากที่สุด โดยเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยในทีมชาติยูเครนก่อนในปี 2016 จากนั้นเชพเชนโก้ก็ได้กลายเป็นนายใหญ่ทีมชาติในปี 2018 พร้อมไปได้ด้วยการพาชาติบ้านเกิดผ่านเข้าไปเล่นรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกในศึกยูโร 2020
ทว่าปัจจุบัน เชว่า ต้องว่างงานอีกครั้ง หลังหันไปลองคุมทีมระดับสโมสรเป็นครั้งแรกกับ เจนัว ช่วงมกราคมที่ผ่านมา ก่อนโดนปลดพ้นตำแหน่งจากฟอร์มทีมที่ย่ำแย่ ชนะเกมเดียวจาก 8 นัด หลังทำหน้าที่ได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น
โรมาริโอ้
โรมาริโอ้ คืออดีตแชมป์โลกกับบราซิลในปี 1994 และดาวยิงสูงสุดอันดับสามตลอดกาลในทัพเซเลเซา และได้แขวนสตั๊ดไปในปี 2009 แต่ก็ไม่ใครคาดคิดเช่นกันว่าเขาจะหันมาเล่นการเมืองหลังจากนั้น แถมเป็นคนที่โดดเด่นมากๆคนหนึ่งในแวดวงนี้ของประเทศบราซิลด้วย
ในปี 2010 โรมาริโอ้ได้รับเลือกให้เข้าไปเป็นสถาผู้แทนราษฎรของบราซิลในปี 2010 ก่อนจะเข้าไปเป็นวุฒิสภาในปี 2014 และในปี 2018 เขาก็ตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ พร้อมลงสมัครผู้ว่าการรัฐ ริโอ เด จาเนโร ด้วย ซึ่งจบด้วยการคว้าอันดับสี่มาครองจากผลโหวตทั้งหมด
อดีตกองหน้าบาร์เซโลน่าได้สร้างชื่อในวงการบริหารประเทศด้วยมุ่งเน้นไปที่การต่อต้านการทุจริตในวงการฟุตบอลที่เขารัก
โซล แคมป์เบล
อดีตปราการหลังของอาร์เซน่อลเข้ามามีส่วนกับวงการนี้ในอังกฤษมากขึ้นหลังจากที่เขาแขวนสตั๊ด โดยเข้าไปอยู่ในพรรคอนุรักษ์นิยมในปี 2014 โดยมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ในปี 2015 บิ๊กโซลได้แสดงเจตจำนงลงสมัครเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของลอนดอน แต่แย่หน่อยที่เขาไม่สามารถคว้าตำแหน่งนั้นไปได้ นอกจากนี้ อดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษยังมีส่วนร่วมในการลงประชามติ Brexit หรือการเสนอให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งตัวก็สนับสนุนให้มีการแยกตัวด้วย
ฮาคาน ซูเคอร์
อดีตกองหน้าทีมชาติตุรกี, แบล็คเบิร์น และ กาลาตาซาราย อย่าง ฮาคาน ซูเคอร์ เป็นนักเตะที่มีชื่อเสียงมากๆในช่วงที่ค้าแข้งอยู่ แต่หลังจากที่เขาแขวนสตั๊ดและหันไปเล่นการเมือง ชื่อของเขาดูเป็นที่พูดถึงมากกว่าเดิมอีก
ซูเคอร์ได้เข้ามาอยู่ในกับพรรค AK เมื่อปี 2011 ก่อนจะลาออกจากพรรคในปี 2013 และในวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 มีทหารกลุ่มหนึ่งพยายามก่อกบฏทำรัฐประหารจากประธานาธิบดี เรเซ็ป เทย์ยิป เออร์โดกัน แต่ล้มเหลว และส่งผลให้มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลแดนตุรกีได้ดำเนินการสอบสวนพร้อมกับจับกุมผู้ที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิด ซึ่งซูเคอร์เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกรัฐบาลสั่งล่าตัวมาสอบสวน พร้อมกับคนอื่นอีก 350 คน ก่อนที่ดาวยิงชาวเติร์กและครอบครัวจะลี้ภัยมาอยู่ในอเมริกาตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน
โรมัน พาฟลิวเชนโก้
แม้ตัวกองหน้าชาวรัสเซียจะไม่สามารถระเบิดฟอร์มในพรีเมียร์ลีกได้อย่างที่แฟนๆไก่เดือยทองคาดหวังไว้ แต่พวกเขาก็ต้องตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อเห็นข่าวว่า โรมัน พาฟลิวเชนโก้ ได้เข้าไปเล่นการเมืองท้องถิ่นในบ้านเกิดของเขาเอง
พาฟลิวเชนโก้ได้เป็นตัวแทนสังกัดพรรคของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศ ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาประจำเมือง แต่ก็อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ เพราะอดีตกองหน้าสเปอร์ไม่ได้ดูรุ่งโรจน์กว่าตอนที่เขาค้าแข้งอยู่ในอังกฤษซักเท่าไหร่
ตีตี้ กามาร่า
อดีตแข้งดังจากลิเวอร์พูลและเวสต์แฮมหลังจากแขวนสตั๊ดในปี 2006 กาเมร่าก็รับตำแหน่งนายใหญ่ทีมชาติกินีช่วงสั้นๆ จากนั้นในปี 2010 เขาได้กลายเป็นอดีตนักกีฬาคนแรกที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของประเทศเป็นครั้งแรก
กามาร่า ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาโดยประธานาธิบดีคนใหม่ของกินีอย่าง อัลฟ่า คอนเด้ ซึ่งปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอยู่ แต่ทว่าในปี 2 ปีต่อมา หรือปี 2012 เขาก็ถูกแทนที่เนื่องจากมีการสับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีในช่วงนั้น
ลิลิยง ตูราม
เส้นทางสายนี้ของ ตูราม อาจจะไม่เหมือนใครคนอื่นลิสต์นี้เท่าไหร่ เพราะตัวเขาไม่ได้มีตำแหน่งทางการกับรัฐบาลในประเทศเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเข้ามาอยู่ในวงการนี้ เนื่องจาก เขาคือนักเคลื่อนไหวทางด้านดังกล่าวมาตั้งแต่ยังคงค้าแข้งอยู่แล้ว และเป็นแกนนำในการเรียกร้องเรื่องให้แก้ปัญหาการเหยียดผิว, ความหลากหลายทางเพศ,ไปจนถึงการคอรัปชั่นด้วย
หนึ่งในการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของอดีตแชมป์โลกกับทัพตราไก่ในปี 1998 ก็คือ ตูรามเคยดีเบตโต้เถียงกับอดีตประธานาธิบดีอย่าง นิโกล่า ซาร์โกซี่ แบบซึ่งๆหน้ามาแล้วผ่านทางโทรทัศน์ หลังจากที่ ซาร์โกซี่ ไปพูดจาเหยียดเด็กยากจนในประเทศ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เคยมีชีวิตแบบนั้นมาก่อน