เสียงคนดังมีค่า : แรชฟอร์ดกับการเรียกร้องอาหารกลางวันให้เด็ก

แรชฟอร์ด

แม้เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนๆกัน แต่ก็คงจะไม่ผิดนักหากบอกว่าเสียงของคนดังที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มักจะดังและสร้างแรงสั่นสะเทือนมากกว่าคนปกติทั่วไป

เพราะเสียงของคนดัง จะได้รับการรับฟังมากกว่า กระจายไปกว้างกว่าคนธรรมดาหลายเท่าตัว และที่สำคัญเสียงเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ อย่างเช่นที่ มาร์คัส แรชฟอร์ด ดาวยิงจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ แสดงให้เห็นมาแล้วเกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวันฟรีให้กับเด็กๆในบ้านเกิด

และที่สำคัญเขาไม่จำเป็นต้องออกมาวิ่งเพื่อระดมทุนช่วยเด็กยากไร้จำนวน 109 รายเหมือนกับฟรอนต์แมนของวงร็อคชื่อดังบางประเทศแต่อย่างใด…

 

โควิดเป็นเหตุ

Marcus Rashford urges government to guarantee free school meals over summer  holidays | Daily Mail Online

ปี 2020 ถือว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤตของทุกประเทศทั่วโลก หลังประสบปัญหาไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกวงการ ไม่ว่ารายเล็กรายใหญ่ต่างโดนกันถ้วนหน้า

ในช่วงนั้นเอง สหราชอาณาจักร ก็ประกาศว่ากำลังจะยกเลิกนโยบายแจกคูปองอาหารกลางวันฟรีให้กับเด็กนักเรียน เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลจากการระบาดของโรคโควิด-19

แม้สหราชอาณาจักรจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก แต่ข้อมูลรัฐบาลระบุว่า มีเด็กถึง 4.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในภาวะยากจน โดยพ่อแม่พวกเขาไม่มีเงินพอสำหรับหาอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย

นั่นเป็นตัวเลขที่เท่ากับสัดส่วน 30% ของเด็กทั้งหมดในประเทศ หมายความว่าเด็กเหล่านี้จะไม่มีอาหารกลางวันฟรีกินอีกต่อไป ถ้านโยบายผลักดันสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม นโบยาบดังกล่าวสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับ แรชฟอร์ด อย่างมาก เพราะถึงในปัจจุบันเขามีรายได้เกือบ 2 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ (ราวๆ 8 ล้านบาท) กับ แมนฯ ยูไนเต็ด แต่เขาก็เติบโตมาในครอบครัวฐานะยากจน แม่ของเขาทำงานหาเช้ากินค่ำเคยทำ 3 อาชีพพร้อมกัน เพื่อเลี้ยงเขาและพี่น้องอีก 4 คนด้วยตัวคนเดียว

และการได้อาหารฟรีจากรัฐบาล มีส่วนทำให้ครอบครัวของเขาพอใช้ชีวิตอยู่ได้แต่ก็ยังลำบาก และถ้าหากยกเลิกอาหารกลางวันฟรีไป เหล่าเด็กๆที่ทางบ้านยากจนจะต้องเผชิญความลำบากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

 

รู้ซึ้งถึงความหิวโหย

Marcus Rashford condemns 'unacceptable' free school meal boxes | News | The  Times

ครอบครัวแรชฟอร์ดต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือทางสังคมเพื่อที่จะพออยู่ได้ โรงเรียนประถมของเขาอยู่ย่านหนึ่งในแมนเชสเตอร์ ซึ่ง 28.1% ของเด็กทั้งหมดได้อาหารกลางวันฟรีในปี 2019 เหมือนที่เขาเองเคยได้มา

แม่เขาทำงานเป็นพนักงานเก็บเงิน หาเช้ากินค่ำ เธอโน้มน้าวให้ ปีศาจแดง รับลูกชายเข้าทีมเยาวชนสำเร็จตอนอายุ 11 ขวบ แม้ตามกฎเด็กต้องอายุอย่างน้อย 12 ปีก็ตาม

นั่นทำให้ แรชชี่ ได้ที่พักใกล้กับสนามฟุตบอลและเข้าถึงอาหารการกินที่ดีขึ้น และถึงแม้จะกลายเป็นดาวเตะชื่อดังของประเทศที่มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมสูงถึง 12 ล้านบัญชี เขาไม่เคยลืมเลยว่าชีวิตวัยเด็กเขายากลำบากแค่ไหน

“ผมรู้ว่าความหิวโหยเป็นอย่างไร สมัยที่ยังเรียนอยู่ ผมเป็นคนหนึ่งที่ต้องพึ่งอาหารฟรีของโรงเรียน เพราะแม่ของผมจะไม่กลับบ้านจนกว่าจะ 6 โมงเย็น เพราะฉะนั้น มื้อต่อไปของผมคือเวลา 2 ทุ่ม” ดาวเตะทีมชาติอังกฤษ กล่าวกับ BBC

หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็กลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์ คัดค้านไม่ให้ยกเลิกคูปองอาหารกลางวันฟรี โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง โพสต์ขอให้คนลงชื่อในแคมเปญ รวมถึงกระจายข่าวผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ

หลังผ่านไปเพียง 13 วัน มีผู้คนมากมายเข้ามาลงชื่อเข้าร่วมแคมเปญนี้ทะลุ 1 ล้านราย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในเวลาต่อมา

 

จดหมายถึงนายกฯ

Huge victory for Marcus Rashford as Boris Johnson u-turns over free school  meals for summer

เดือนมิถุนายนปี 2020 ดาวเตะ แมนฯ ยูไนเต็ด ทำการเขียนจดหมายไปถึงสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาล และ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ขอร้องให้พิจารณาการตัดสินใจเรื่องการแจกอาหารฟรีใหม่อีกครั้ง 

“นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง มันคือหลักมนุษยธรรม เมื่อพวกเรามองตัวเองในกระจก และรู้สึกว่า พวกเราได้ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อปกป้องคนที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ หากนำเรื่องการเมืองออกไป พวกเราทุกคนจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เด็ก ๆ ไม่ควรไปนอนทั้งที่อด ๆ อยาก ๆ หรือ?” เนื้อความส่วนหนึ่งในจดหมายระบุ

“ความอดอยากในอังกฤษคือโรคระบาดที่จะแพร่ไปยังกลุ่มประชากรรุ่นแล้วรุ่นเล่า ถ้าเราไม่ทำให้มันถูกต้อง รัฐบาลใช้ทุกวิธีที่จำเป็นเพื่อเศรษฐกิจของประเทศ วันนี้ผมขอร้องให้คุณคิดแบบเดียวกัน กับการปกป้องเด็กๆ ที่ยากไร้ทุกคนทั่วประเทศ”

“ผมสนับสนุนให้คุณรับฟังคำวิงวอนของพวกเขาและตระหนักถึงหลักมนุษยธรรม ได้โปรดพิจารณาการตัดสินใจยกเลิกโครงการแจกอาหารเด็ก ๆในช่วงซัมเมอร์อีกครั้ง และยืนยันว่าจะทำโครงการนี้ต่อไป”

“นี่คืออังกฤษในปี 2020 นี่คือปัญหาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน ในขณะที่ทุกสายตาจับจ้องพวกคุณอยู่ ได้โปรดตัดสินใจใหม่ และมองเรื่องปกป้องคนยากไร้ในประเทศ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดด้วยครับ”

 

เสียงเรียกร้องเป็นผล

Britain honors footballer Marcus Rashford for fighting child poverty |  Daily Sabah

เสียงเรียกร้องของคนดังสร้างแรงสั่นสะเทือนได้อย่างชัดเจน จนทำให้ต่อมา พรรคอนุรักษ์นิยมนำโดย บอริส จอห์นสัน ตัดสินใจกลับมาสนับสนุนนโยบาย Free School Meals อีกครั้ง และทุ่มงบ 400 ล้านปอนด์ ช่วยเหลือเด็กทั่วประเทศไปอีก 12 เดือน

นั่นส่งผลให้ ดาวเตะ ปีศาจแดง ได้รับรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากเจ้าชาย วิลเลียมส์

ไม่เพียงแค่นั้น แคมเปญของเขายังทำให้ องค์กรและห้างร้านต่างๆ เข้ามาสนับสนุนเงินการกุศล เป็นค่าอาหารให้กับเด็กยากไร้

“ผมจะมอบสิ่งที่ผมไม่เคยได้รับในสมัยเด็กๆ ให้แก่เด็กๆ ในวันนี้ เพราะถ้าผมได้รับสิ่งเหล่านั้น บางทีชีวิตของผมก็อาจจะดีกว่านี้และมีทางเลือกมากกว่านี้” แรชชี่ กล่าว

“สำหรับผม การที่พวกเขาไม่มีแม้แต่อาหารหรือหนังสือไว้อ่าน คือบทลงโทษที่ไม่ควรเกิดขึ้น”

โดยนอกจากเรื่องโครงการอาหารแล้ว เขายังเดินหน้าในการจัดชมรมหนังสือเพื่อมอบความรู้ให้แก่เด็กๆ และยังออกหนังสือเด็กที่ทำร่วมกับ คาร์ล แอนคา นักหนังสือพิมพ์ในชื่อ You Are a Champion ซึ่งเป็นหนังสือยอดนิยมที่ขายดีประจำปี 2021

ปัจจุบันดาวเตะวัย 24 ปี ก็ยังคงใช้ชื่อเสียงของเขา รณรงค์การกุศลผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เด็กยากไร้ในอังกฤษมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าคนมีชื่อเสียงสามารถใช้เสียงของตัวเอง เปลี่ยนชีวิตคน ดังเช่น แรชฟอร์ด แสดงให้เห็นในปีที่ผ่านมา 

ทั้งที่ความจริงเขาจะเล่นฟุตบอลแล้วนอนตีพุงรับค่าเหนื่อยก้อนโตอย่างเดียวก็ไม่มีใครว่า แต่กล้าที่จะออกมาเป็นแกนนำในการเรียกร้องในเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเขาเอง จนส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้นำประเทศได้ในท้ายที่สุด

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

แรชฟอร์ด
ดาวยิงผู้ให้ : แรชฟอร์ดกับ 7 เหตุการณ์ที่แฟนบอลผู้ดีชื่นชม