สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เพิ่งออกมายืนยันอย่างเป็นทางการว่า “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ตัดสินใจเลือก มาโน่ โพลกิ้ง อดีตเฮดโค้ช อาร์มี่ ยูไนเต็ด และ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เข้ามารับตำแหน่งกุนซือใหญ่ทีมชาติไทย คนใหม่อย่างเป็นทางการ
โดยคาดการณ์ว่า เทรนเนอร์ชาวเยอรมัน จะได้รับสัญญาคุมทีมแค่เพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยภารกิจหลักคือการพาทีมลงเตะศึก เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ช่วงปลายปีนี้ และมันอาจเป็นบททดสอบว่าเขาเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งเฮดโค้ชทัพ “ช้างศึก” ต่อไปในระยะยาวหรือไม่
สำหรับเทรนเนอร์วัย 45 ปี อยู่กับวงการฟุตบอลไทย มาอย่างยาวนาน และฝากผลงานไว้มากมายสมัยคุมสโมสรในศึกไทยลีก โดยเฉพาะกับ อาร์มี่ ยูไนเต็ด และ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกุนซือคนใหม่ทีมชาติไทย ซึ่งวันนี้ UFAARENA จะขอพาไปทำความรู้จักกับ มาโน่ โพลกิ้ง เฮดโค้ชป้ายแดงทัพ “ช้างศึก” ให้มากขึ้นกว่าเดิม
อดีตแข้งลีกรองเยอรมัน
ย้อนกลับสมัยเป็นนักเตะ มาโน่ โพลกิ้ง ซึ่งเกิดที่รัฐรีโอ กรันดี โด ซูล ประเทศบราซิล ก่อนย้ายมาเติมโตและเริ่มต้นเล่นฟุตบอลอาชีพที่เยอรมัน โดยสโมสรแรกของอดีตนักเตะตำแหน่งกองกลางตัวรุกคือ วีเอฟบี ฟิชเทอ บีเลเฟลด์ ก่อนโยกมาอยู่กับทีมลีกรองเมืองเบียร์อย่าง อาร์มีเนีย บีเลเฟลด์ เมื่อปี 2003 พร้อมกับลงสนาม 37 เกม ยิง 13 ประตู ในซีซั่น 2003/2004
หลังจากนั้นปี 2004 มาโน่ ย้ายมาอยู่กับ เอสเฟา ดาร์มสตัดท์ อีกหนึ่งสโมสรดังของลีกเยอรมัน กระทั่งตัดสินใจเดินทางออกไปหาความท้าทายต่างแดนกับทีมแกร่งบนลีกสูงสุดไซปรัส อย่าง โอลิมเปียกอส นิโคเซีย และ อาโปเอล นิโคเซีย แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก่อนตัดสินใจยุติเส้นการค้าแข้งอาชีพในปี 2007 ด้วยวัยแค่เพียง 31 ปี
เคยผ่านงานทีมชาติไทย
ภายหลังแขวนสตั๊ดเมื่อปี 2007 มาโน่ หันมาเริ่มต้นเส้นทางโค้ชแบบเต็มตัว โดยงานแรกของเขาคือการเป็นผู้ช่วย วินฟรีด เชเฟอร์ สมัยรับงานคุม อัล ไอน์ สโมสรดังลีกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อปี 2008 ต่อด้วย เอฟเค บากู ในลีกอาเซอร์ไบจาน กระทั่ง เชเฟอร์ เข้ามาเป็นกุนซือทีมชาติไทย ในปี 2012 มาโน่ โพลกิ้ง เลือกที่จะตามเฮดโค้ชรายดังกล่าวเข้ามายังเมืองไทย ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามช่วงเวลาของ เชเฟอร์ และ มาโน่ กับการทำงานในนามทีมชาติไทย เกิดขึ้นระยะเวลาไม่นาน ก่อนที่เฮดโค้ชชาวเยอรมัน แยกทางกับ “ช้างศึก และย้ายไปรับตำแหน่งนายใหญ่ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในปี 2013 ทว่าคราวนี้มือขวาคู่ใจของเขากลับไม่ตามไปทำงานในถิ่น เอสซี สเตเดี้ยม เหมือนที่ผ่านมา ก่อนที่ มาโน่ โพลกิ้ง ตัดสินใจยกระดับตัวเองขึ้นเป็นกุนซือแบบเต็มตัวด้วยการรับงานคุม อาร์มี่ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรแรกเมื่อเดือนตุลาคมปี 2012
เริ่มต้นสร้างชื่อกับ อาร์มี่
การมาอยู่กับทัพ “สุภาพบุรุษวงจักร” ถือเป็นการคุมทีมแบบเต็มตัวครั้งแรกของ มาโน่ โพลกิ้ง ทว่าเขากลับทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมแบบเหนือความคาดหมาย ด้วยการพาทีมจบอันดับ 6 ของศึก ไทยพรีเมียร์ลีก ซีซั่น 2013 ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดของสโมสรจนถึงทุกวันนี้
อาร์มี่ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทัพของกุนซือชาวเยอรมัน เชื้อสายบราซิล กลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งมากที่สุดทีมหนึ่งของไทยลีก ณ เวลานั้น แถมมีผู้เล่นต่างชาติและนักเตะไทย ระดับแถวหน้าร่วมทีมคับคั่ง ทั้ง เดงโก คาปราลิ, เออร์เนสโต้ ภูมิภา, นิรุจน์ สุระเสียง, อนุวัฒน์ น้อยชื่นพันธ์, มงคล ทศไกร, ชัยณรงค์ ทาทอง, ธนากรณ์ แดงทอง และ กอรัน เยร์คอวิช ด้วยขุมกำลังที่แข็งแกร่งและการทำทีมที่ยอดเยี่ยมของ มาโน่ ทำให้ อาร์มี่ จบฤดูกาล 2013 ในอันดับที่ 6 ของลีก ด้วยผลงานลงสนาม 32 นัด ชนะ 13 เกม เสมอ 9 เกม และแพ้ 10 เกม นับเป็นการแจ้งเกิดฐานะของเฮดโค้ชหนุ่มวัย 37 ปี แบบเต็มตัว
รับงานคุม ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด
ภายหลังเริ่มสร้างชื่อกับสองทีมแกร่งอย่าง อาร์มี่ ยูไนเต็ด และ สุพรรณบุรี เอฟซี เฮดโค้ชชาวเยอรมัน ได้รับโอกาสครั้งสำคัญย้ายเข้ามารับงานคุมทีมสโมสรระดับแถวหน้าของเมืองไทย อย่าง ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ในเดือนมิถุนายน ปี 2014 พร้อมเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการตามล่าถ้วยแชมป์ใบแรกของสโมสร
ภายใต้การคุมทัพของ มาโน่ บวกกับการทุ่มทุนสร้างทีมของประธานสโมสรอย่าง ขจร เจียรวนนท์ ทำให้ “แข้งเทพ” ยกระดับกลายเป็นทีมลุ้นแชมป์แบบเต็มตัวในฤดูกาล 2015 ทว่าเมื่อจบซีซั่นดังกล่าวผลงานของทีมกลับไม่เป็นไปแบบที่หลายคนคาดหวัง เมื่อพวกเขาจบแค่เพียงอันดับ 5 เท่านั้น
ก่อนที่ซีซั่นถัดมา แบงค็อก ขยับเข้าใกล้ความสำเร็จในศึกไทยลีก มากที่สุด นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อปี 2009 ด้วยการคว้าตำแหน่งรองแชมป์ หลัง มาโน่ พาทีมจบฤดูกาลด้วยการมีแต้มตามหลังแชมป์อย่าง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด แค่เพียง 5 คะแนน เท่านั้น แต่นั่นก็ยังทำให้พวกเขาได้สิทธิ์ไปเตะฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
โดยตลอดระยะเวลา 6 ซีซั่น ที่ มาโน่ โพลกิ้ง คุม ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด พาทีมลงสนามไปทั้งหมด 221 นัดรวมทุกรายการ ชนะ 126 เกม เสมอ 43 เกม และแพ้ 52 เกม กระทั่งเดือนตุลาคม ปี 2020 เจ้าตัวได้แยกทางกับทีม และถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งกับการที่เขาต้องเดินออกจากถิ่น ทรู สเตเดี้ยม แบบไม่มีถ้วยแชมป์ติดมือแม้แต่รายการเดียว
กุนซือคุมทีมนานสุดไทยลีก
สิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อมากสุดของศึกฟุตบอลลีกสูงสุดเมืองไทย นั่นคือการถูกยกย่องให้เป็นลีกกินโค้ช ในแต่ละซีซั่นมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกุนซือระหว่างฤดูกาลจำนวนไม่น้อย แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด กับชายที่ชื่อ มาโน่ โพลกิ้ง
ตลอดระยะเวลาที่ผู้จัดการทีมชาวเยอรมัน ทำงานกับ “แข้งเทพ” เขาเจอสถานการณ์กดดันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่ผลงานของทีมต่ำกว่ามาตราฐาน ทว่า มาโน่ ไม่เคยได้รับความไว้ว่างใจจากสโมสรน้อยลงเลย
แม้ว่าตลอด 6 ซีซั่น กับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ความสำเร็จของเขากับสโมสร สวนทางเม็ดเงินการลุงทุนและความคาดหวังจากทั้งแฟนบอลและเจ้าของทีมอย่างสิ้นเชิง ทว่า มาโน่ สามารถรักษาตำแหน่งของตัวเองได้อย่างเหนียวแน่น จนทำให้เขาครองสถิติกุนซือคุมทีมนานสุดในไทยลีก ด้วยระยะเวลา 6 ปี 4 เดือน ซึ่งดูแล้วคงเป็นเรื่องยากมาก หากจะหาใครมาทำลายสถิติดังกล่าวในอนาคตอันใกล้นี้
เกมรุกยิงกระจุย เกมรับรั่ว
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ มาโน่ โพลกิ้ง ถูกยกให้เป็นหนึ่งในเทรนเนอร์ระดับแถวหน้าของไทยลีก เนื่องจากเขาเป็นกุนซือสไตล์เน้นเกมรุกเอ็นเตอร์เทนแฟนบอล ด้วยระบบการเล่นแบบ 3-5-2 ซึ่งเราเห็นเป็นประจำสมัยเจ้าตัวอยู่กับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด
อย่างไรก็ตามแม้มีจุดเด่นคือการเล่นเกมรุกเป็นหลัก ด้วยสถิติอันโดดเด่นยิงถึง 470 ประตู จากการคุมทีม 221 นัด ทว่าเกมรับกลับเป็นปัญหาที่เขาแก้ไม่ตกเช่นกัน ตลอดระยะเวลาการทำงาน 6 ปี กับ “แข้งเทพ”
โดยสถิติเผยว่า แบงค็อก ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทัพของ มาโน่ เสียประตูไปถึง 278 ลูก จากการลงเล่น 221 นัด ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากหรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยนโดนยิงเกิน 1 ประตู ต่อเกม
นอกจากนั้นหากมองสถิติโดยรวม นับตั้งแต่เจ้าตัวเริ่มต้นงานคุมทีมกับ อาร์มี่ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2013 กระทั่งปัจจุบัน เฮดโค้ชวัย 45 ปี พาทุกสโมสรลงสนามรวมกันไปแล้ว 281 นัด มีสถิติการยิงประตู 555 ลูก ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ยอดเยี่ยม ทว่าจำนวนเสียประตู 353 ลูก ก็ถือว่าไม่น้อยเช่นกัน
เด็กปั้น มาโน่
ตลอดระยะเวลาที่ มาโน่ โพลกิ้ง รับงานคุมทีมในเมืองไทย ซึ่งยาวนานกว่า 7 ปี กับสามสโมสร นอกจากเขาจะสามารถทำผลงานที่น่าประทับใจแล้ว การสร้างและให้โอกาสดาวรุ่งขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีม ถือเป็นอีกสิ่งที่เจ้าตัวควรได้รับเครดิตไม่น้อยเช่นกัน
หากนึกถึงนักเตะดาวรุ่งที่เคยผ่านการทำงานกับเฮดโค้ชชาวเยอรมัน มาแล้ว รายแรกคงต้องเป็นกองกลางตัวตัดเกมอย่าง ทศวรรษ ลิ้มวรรณเสถียร ซึ่งถูก มาโน่ ดันขึ้นมาเป็นแกนหลัก อาร์มี่ ยูไนเต็ด ด้วยวัยแค่เพียง 20 ปี เมื่อฤดูกาล 2013 และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมจนทำให้ก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทย ชุด U-23 ในเวลาต่อ หลังจากนั้นทั้งคู่ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งที่ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ในปี 2018
ส่วนอีกคนที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ วิศรุต อิ่มอุระ กองกลาง Box-to-box ของ “แข้งเทพ” ซึ่งถูกดันขึ้นมาเป็นแกนหลักของสโมสรตั้งแต่อายุยังน้อย และทำผลงานยอดเยี่ยม เป็นตัวที่คอยทดแทนรุ่นพี่ในทีมได้เป็นอย่างดี จนปัจจุบันเขาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญของ ทูร แบงค็อก ยูไนเต็ด ไปเป็นที่เรียร้อยแล้ว
หัวหอกอนาคตไกลอย่าง ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม เป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งที่แจ้งเกิดแบบเต็มกับ แบงค็อก ยูไนเต็ด เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา หลัง มาโน่ มอบโอกาสให้ดาวยิงวัย 23 ปี ลงสนามเป็นตัวหลักของทีมตั้งแต่ช่วงออกสตาร์ทซีซั่น 2020/2021 ก่อนที่อดีตแข้ง เอฟซี โตเกียว U-23 จะสามารถระเบิดฟอร์มเก่งยิงประตูต่อเนื่อง จนทำให้เขาคว้าตำแหน่งรองดาวซันโวนักเตะไทย ในศึกไทยลีก ฤดูกาลแล้ว และไม่แน่ว่าเขาอาจได้ร่วมงานกับเจ้านายเก่าอีกครั้งในนามทีมชาติก็เป็นได้
กุนซือต่างชาติคนแรกคุมไทยลีก ก่อนเลื่อนขั้นมาทำงานทีมชาติ
นอกจากจะเป็นเจ้าของสถิติกุนซือคุมทีมยาวนานสุดในศึกไทย มาโน่ โพลกิ้ง ยังกลายเป็นกุนซือคนแรกที่เคยผ่านการทำงานกับสโมสรในไทย ก่อนเลื่อนขั้นขึ้นมารับตำแหน่งเฮดโค้ชทัพ “ช้างศึก” ชุดใหญ่
จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทีมชาติไทย เคยมีกุนซือต่างชาติมาแล้ว 13 คน นับตั้งแต่ กุนเธอร์ กลอมบ์ ชาวเยอรมัน คืนคนแรกเมื่อปี 1968 อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีใครที่ผ่านงานโค้ชกับสโมสรในไทยลีก ก่อนก้าวขึ้นมาคุมทีมชาติในเวลาต่อมา
การผ่านประสบการณ์บนลีกสูงสุดของเมืองไทย มาก่อนสำหรับ มาโน่ ไม่ได้การันตีว่าเขาจะประสบความสำเร็จกับตำแหน่งนายใหญ่ทีมชาติไทย มากกว่าเฮดโค้ชชาวต่างชาติรายอื่น แต่อย่างน้อยมันอาจทำให้ใช้เวลาในการปรับตัวน้อยกว่าคนอื่น เนื่องจากเขารู้จักนักเตะและฟุตบอลไทย เป็นอย่างดี จากระยะเวลา 6 ปี ที่ทำงานอยู่กับทั้ง อาร์มี่ ยูไนเต็ด, สุพรรณบรี เอฟซี และ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด และนี่อาจเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเขาทำผลงานออกมาได้ดีกว่าที่ใครหลายคนคาดคิดไว้
เวลา 3 เดือน ตัดสินอนาคตกับ ช้างศึก
ค่อนข้างเซอร์ไพรส์พอสมควรกับการเข้ามารับงานคุมทีมชาติไทย ของ มาโน่ โพลกิ้ง อย่างไรก็ตามเขาจะมีเวลาพิสูจน์ฝีมือของตัวเองกับทัพ “ช้างศึก” แค่เพียงไม่นาน ซึ่งคาดว่าภารกิจหลักของเจ้าตัวคือการพาทีมลุยศึก เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ช่วงปลายปีนี้
นับเป็นอีกบททดสอบสำคัญสำหรับเฮดโค้ชชาวเยอรมัน กับการก้าวขึ้นมารับงานระดับทีมชาติครั้งแรก และแน่นอนว่าช่วงเวลาหลังจากนี้อีกประมาณ 3 เดือน จะเป็นการพิสูจน์ว่าเขาดีพอกับการนั่งตำแหน่งเฮดโค้ช “ช้างศึก” ระยะยาวหรือไม่
การมาของ มาโน่ ถือว่าหักปากกาเซียนพอสมควร เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาแทบไม่เคยมีข่าวกับทีมมาก่อนเลย ทว่าเป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะหลังแยกทางกับ โฮ จิ มินห์ ซิตี้ ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงที่ทีมชาติไทย กำลังมองนายใหญ่คนใหม่ นั่นทำให้เทรนเนอร์วัย 45 ปี ได้รับงานดังกล่าว โดยมี “เซอร์เด็จ” จเด็จ มีลาภ กุนซือมากประสบการณ์ และ “โค้ชหนึ่ง” หนึ่งฤทัย สระทองเวียน เป็นผู้ช่วย
ความสำเร็จในศึก อาเซียน คัพ จะเป็นคำตอบอนาคตของ มาโน่ กับการคุมทีมชาติไทย ซึ่งหากผลงานไม่ดี หลังผ่านปีใหม่เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แต่หากสถานการณ์ตรงกันข้าม เป็นไปได้ว่า มาโน่ โพลกิ้ง อาจได้ทำงานต่อไปในปีหน้า ซึ่งภารกิจต่อไปคือการพาทีมลงเตะศึก เอเอฟซี เอเชียน คัพ 2023 รอบคัดเลือก
เฮดโค้ชต่างชาติไม่ถูกโฉลก อาเซียน คัพ
แน่นอนว่าความสำเร็จในฟุตบอล อาเซียน คัพ หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ อาจเป็นคำตอบเรื่องอนาคตของ มาโน่ โพลกิ้ง กับทีมชาติไทย ทว่ามีเรื่องน่าหวั่นใจไม่น้อยสำหรับเทอรเนอร์ชาวเยอรมัน กับสถิติอันย่ำแย่สำหรับกุนซือชาวต่างชาติกับการคุมทีมลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว
ย้อนกลับไปปี 2000 อดีตสุดยอดเฮดโค้ชทัพ “ช้างศึก” ชาวอังกฤษ อย่าง ปีเตอร์ วิธ พาทีมคว้าแชมป์ อาเซียน คัพ สมัยที่ 2 ต่อด้วยแชมป์สมัยที่ 3 ในการแข่งขันครั้งต่อมาเมื่อปี 2002 หลังจากนั้นเป็นต้นมายังไม่เคยมีผู้จัดการทีมชาวต่างชาติคนไหนเคยประสบความสำเร็จกับทีมชาติไทย ในถ้วยชิงแชมป์อาเซียน อีกเลย
โดยในปี 2010 ไบรอัน ร็อบสัน อดีตตำนานนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือนายใหญ่ทีมชาติไทย ชาวต่างชาติที่คุมทีมลงเตะ อาเซียน คัพ ต่อจาก ปีเตอร์ วิธ เมื่อปี 2002 ทว่าผลงานกลับน่าผิดสุดๆ ด้วยการตกรอบแรก ลงเล่นสนาม 3 นัด ไม่ชนะใครเลย เสมอ ลาว 2-2, เสมอ มาเลเซีย 0-0 และแพ้เจ้าภาพร่วม อินโดนีเซีย 2-1
ถัดมาคือปี 2012 ภายใต้การคุมทีมของ วิลฟรีด เชเฟอร์ ซึ่งมี มาโน่ โพลกิ้ง เป็นผู้ช่วย เฮดโค้ชเยอรมัน พาทีมออกสตาร์ททัวร์นาเมนต์ได้อย่างยอดเยี่ยมฐานะเจ้าภาพร่วม ด้วยการเก็บชัยชนะ 3 นัดรวด ก่อนผ่านคู่แข่งอย่าง มาเลเซีย ในเกมรอบรองชนะเลิศ ทะลุเข้าชิง อาเซียน คัพ ครั้งแรกนับแต่ปี 2008 พบกับ สิงคโปร์ ซึ่งท้ายที่สุดทีมของ เชเฟอร์ จบแค่เพียงตำแหน่งรองแชมป์เท่านั้น
ส่วนเฮดโค้ชชาวต่างชาติคนล่าสุด ที่พาทีมชาติไทย ลงเตะ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ คือ มิโลวาน ราเยวัช เมื่อปี 2018 ทัพ “ช้างศึก” ภายใต้การทำงานของกุนซือเซอร์เบีย ออกสตาร์ททัวร์นาเมนต์ได้อย่างสวยหรู ด้วยการเก็บชัยชนะ 3 เกม จากการลงเล่น 4 เกม ในรอบแบ่งกลุ่ม ทว่าท้ายที่สุดทีมของ ราเยวัช ต้องหยุดแค่เพียงรอบรองชนะเลิศเท่านั้น หลังพลาดท่าแพ้ มาเลเซีย ด้วยกฏอเวย์โกล ในเกมรอบรองชนะเลิศ เลกสอง ที่สนาม ราชมังคลากีฬาสถาน
วิวัฒนาการฟุตซอลไทย! ย้อนรอย 21 ปี โต๊ะเล็กช้างศึกบนเวทีโลก