VAR กลายเป็นเทคโนโลยีที่แฟนบอลตั้งคำถามในแง่ลบ นับตั้งแต่ที่เข้ามาส่วนในการแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการในปี 2017 โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีกที่มีประเด็นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่กับศึกยูโร 2020
หลายคนสังเกตได้ชัดเจนว่าในศึกชิงแชมป์บอลยุโรปครั้งนี้ที่มี VAR เข้ามาช่วยตัดสิน กลับทำได้มีประสิทธิภาพและใช้เวลาตัดสินอย่างรวดเร็ว จากหลายๆ นัดที่ผ่านมาในรอบแบ่งกลุ่ม ยกตัวเช่นเกมที่ โปรตุเกส เสมอกับ ฝรั่งเศส 2-2 ประตูที่ 2 ของ คาริม เบนเซม่า ถูกเป่าว่าล้ำหน้าในตอนแรก แต่หลังจากนั้นอีก 29 วินาที ก็กลับคำตัดสินให้เป็นประตูแทน
กระบวนการดังกล่าว ใช้เวลาหลายนาทีมาก เมื่อย้อนกลับมาในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งบางครั้งก็สร้างความเดือดดาลให้กับผู้บรรยายเกมจากต่างประเทศได้เช่นกัน ผิดกับในยูโร ซัมเมอร์นี้ที่รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จนหลายคนแปลกใจไม่น้อย
ว่าแต่ ยูฟ่า มีการจัดการที่ต่างจากลีกอื่นๆอย่างไร ถึงทำให้ VAR ลื่นไหลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน UFAARENA จึงขอพาไปวิเคราะห์ผ่านบทความชิ้นนี้กัน
เชิ้ตดำ 22 คนจาก 2 ห้อง VAR
หลังจากเปิดตัวในพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ฤดูกาล 2019-20 เป็นต้นมา กระแสตอบรับจาก VAR ถือว่าเป็นไปในทางลบค่อนข้างมาก ทั้งการกินเวลาในการตัดสินหลายนาที หรือ การตัดสินล้ำหน้าหรือให้จุดโทษที่ชวนข้องใจ ไม่ได้ถูกต้องแบบชัดเจน
และนี่เป็นครั้งแรกที่ VAR ถูกนำมาใช้ในศึกยูโรเป็นครั้งแรก หลังก่อนหน้าได้ลองใช้ในฟุตบอลโลกปี 2018 ซึ่ง ณ เวลานั้นก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี แม้มีบางจังหวะที่ชวนค้านสายตาบ้างก็ตาม
เช่นเดียวกับ พรีเมียร์ลีก VAR ในยูโร จะช่วยตัดสินในจังหวะสำคัญของการแข่งขัน ทั้งลูกจุดโทษ, การทำประตู และใบแดงจากการฟาวล์ที่รุนแรง
อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่แตกต่างจากในพรีเมียร์ลีกอยู่ นั่นก็คือ ยูฟ่า จะมีผู้ตัดสินเฉพาะกิจ 22 คนที่ทำหน้าที่ช่วยตัดสินในห้องประจำการตลอดทัวร์นาเม้นต์ ซึ่งทำหน้าที่ดูเกมที่สำนักงานใหญ่ของ ยูฟ่า ในเมืองนียง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และจะมีการสื่อสารโดยตรงกับผู้ตัดสินการแข่งขันนั้นๆ
ยูฟ่ามีห้อง VAR ที่ตั้งอยู่ในนียงถึง 2 ห้อง เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆในการแข่งขัน ซึ่งหมายความว่าเกมต่างๆ ที่เล่นพร้อมกันจะยังคงได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยผู้ตัดสิน VAR และผู้ตัดสินวิดีโอล้ำหน้าซึ่งจะช่วยตัดสินไปที่เหตุการณ์เฉพาะด้วย
ผู้ตัดสินในเกมการแข่งขันจะมีมอนิเตอร์ให้ในสนามและจะเข้าไปตรวจสอบเองได้ทันทีในกรณีที่ VAR แนะนำให้วินิจฉัยการตัดสินด้วยตนเอง
ทำเกมลื่นให้ไหลมากที่สุด
ยูฟ่า ทำการแบ่งห้องเจ้าหน้าที่ช่วยตัดสินเป็น 2 ห้อง แทนที่จะเป็นห้องเดียว เหมือนที่ลีกดังในแต่ละประเทศเลือกใช้ และมีการหมุนเวียนให้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ในสนามกับห้อง VAR สลับกันไปมา
การวางโครงสร้างแบบกว้างๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่ โดยเฉพาะกับ VAR ที่ถูกนำมาใช้ในวิธีที่คล้ายคลึงกันในฟุตบอลโลกปี 2018 แม้ได้รับเสียงชื่นชมอยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ตัดสินที่ขัดแย้งกันก็ยังมีอยู่ เช่นการย้ำ 2 เท้าของ เคราร์ด ปิเก้ หรือ อันเต้ เรบิช แต่ทั้งคู่กลับรอดสายตาของ ผู้ตัดสิน รวมถึง VAR ไปได้
การหลีกเลี่ยงความไม่สม่ำเสมอนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกจาก ยูฟ่า ทั้งหมดเดินทางไปอิสตันบูลเป็นเวลา 4 วันในเดือนพฤษภาคม ซึ่งพวกเขาได้หารือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ และผลที่ได้คือแนวคิดที่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
แนวทางของเชิ้ตดำใน นียง คือการปล่อยสิ่งที่ตกลงกันไม่ได้เพื่อให้เกมดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงรายละเอียดความแตกต่างของแฮนด์บอลถูกกล่าวถึงในอิสตันบูลหลังจากสร้างความวุ่นวายทั่วยุโรปในฤดูกาลที่ผ่านมา และในกรณีที่มีข้อสงสัยอย่างจริงจังเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในทัวร์นาเมนต์ลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่ VAR จะแนะนำให้ผู้ตัดสินในสนามไปวินิจฉัยที่มอนิเตอร์ข้างสนามด้วยตัวเองทันที
การทำแบบนี้ของ ยูฟ่า ทำให้ความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องสอดรับกันอย่างลงตัว ขณะที่ VAR ทำงานได้อย่างราบรื่นและน่าเชื่อถือได้จากเบื้องหลัง เชิ้ตดำในสนามก็รู้สึกกล้าที่จะตัดสินในสนาม และรู้สึกปลอดภัยเมื่อรับรู้ว่าพวกเขาได้รับการหนุนหลังจากเพื่อนร่วมอาชีพในห้องช่วยตัดสิน
คุณภาพของการตัดสินได้รับประโยชน์โดยตรงจากการตัดสินที่มั่นใจของ VAR โดยความผิดพลาดที่มากที่สุดของ VAR ในยูโรครั้งนี้น่าจะเป็นตอนที่ การ์ลอส เดล เกร์โร่ ผู้ตัดสินชาวสแปนิช ให้จุดโทษกับ เช็ก จากจังหวะที่ เดยัน ลอฟเรน ยกแขนไปโดนหน้าของ พาทริค ชิก ตอนแย่งโหม่งกลางอากาศ ซึ่งถึงอย่างนั้น ส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากการตีความกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของ ยูฟ่า มากกว่าข้อผิดพลาดของ VAR เองมากกว่า
VAR ที่หลายลีกควรจะเป็น
พรีเมียร์ลีกไม่ได้วางแผนที่จะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเช่นเจ้าหน้าที่ล้ำหน้าโดยเฉพาะ แต่กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด และผู้ตัดสินจากอังกฤษที่มีส่วนร่วมในทัวร์นาเม้นต์จะกลับมาหารือเรื่องนี้กับ ไมค์ ไลรี่ย์ และสมาคมผู้ตัดสินในแดนผู้ดีแน่นอน
ก่อนหน้านี้ VAR อาจถูกเย้ยหยันจากบรรดากูรูวิเคราะห์การแข่งขันในห้องส่งของแต่ละสถานี และสามารถเห็นได้ทุกการเคลื่อนไหวของ VAR ในเกม แต่ในยูโร 2020 กลับแตกต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อคนที่อยู่เบื้องหลังทำงานกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แน่นอนว่า ยังมีข้อบกพร่องบางอย่างเล็กน้อยของ VAR ในยูโรครั้งนี้ เช่นกรณีลูกจุดโทษของ ชีก ในเกมเช็กเสมอกับ โครเอเชีย หรือ ประตูของ เบนเซม่า ที่อาจขัดอารมณ์ไปบ้าง แต่ด้วยเวลาตัดสินจาก VAR แค่ 29 วินาที ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ตัดสินทำหน้าที่ได้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ในสถานการณ์นี้
แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่แฟนบอลเคยเห็นใน VAR มาคือการตัดสินชี้ขาดที่ถูกต้อง ชัดเจน และดูเชื่อถือได้มากกว่าที่เคยเป็นมา
พรีเมียร์ลีกมีความหวังสูงสำหรับผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันในฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึงในเดือนสิงหาคม และเริ่มการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว 1 อย่าง นั้นก็คือการตีเส้นล้ำหน้าให้หนาขึ้นกว่าเดิม แต่พวกเขาก็อาจนำเอาแนวทางของ ยูฟ่า ไปใช้งานกับลีกตัวเองด้วย ทั้งการตั้งผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในห้อง VAR โดยเฉพาะ หรือสร้างห้อง VAR เพิ่มขึ้น เพื่อสามารถสอดส่องเหตุการณ์ต่างให้ชัดเจนมากกว่าที่เป็น
นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้ VAR ควรค่าได้รับการจดจำในฐานะเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมั่นไว้วางใจได้ในการแข่งขันสำคัญทั่วโลก มากกว่าเป็นแค่แนวคิดเทคโนโลยีการกีฬาที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้เสียที
และแน่นอนว่ามีหลายเรื่องที่ ยูฟ่า ทำได้ไม่ดีหรือเหมาะสมนัก และบ่อยครั้งก็ก่อเรื่องผิดพลาดขึ้น แต่ที่น่าทึ่งคือจนถึงตอนนี้ VAR ไม่ใช่หนึ่งในความผิดพลาดของพวกเขา แถมเป็นสิ่งที่ลีกต่างๆควรเอาเยี่ยงอย่างด้วยซ้ำไป